5 พฤศจิกายน 2561

ฟ้อง พรบ.คอมฯ การค้ายุคนี้

ในยุคที่ช่องทางฟ้องหน่วยงานราชการ กันค่อนข้างง่าย คงต้องระวังตัวกันทุกฝ่าย โดยเฉพาะคนค้าขาย ไม่ว่าออนไลน์ หรือ ออฟไลน์

ในฐานะคนทำงานสำนักงานบัญชี จะมีเรื่องเล่าจากลูกค้าบ่อยๆ ว่าโดนนั่นโดนนี่

ไม่ติดป้ายราคา ไม่ว่าออฟไลน์ ออนไลน์ มีโอกาสถูกเจ้าหน้าที่เรียกปรับ กรมการค้าภายใน มั้งถ้าจำไม่ผิด

อีกเรื่องแจ้งสรรพากร จ่ายภาษีหรือเปล่า นี่เจอกันบ่อย ลูกค้าเล่าให้ฟัง ทั้งจากลูกค้าของตัวเองที่ไม่พอใจบริการก็เยอะ จาก คู่แข่ง ไม่เอ่ยนามก็แยะ คนในบริษัทตัวเองฟ้องก็มี

แก้ไขได้มั้ยคงยากเพราะคนค้าคนขาย อย่างไรก็อยู่ในที่เปิดเผย คนค้าก็อยากให้คนรู้จักเราเยอะ โดยไม่รู้ว่าใครเป็นใครที่กำลังคุยอยู่กับเรา

เจอสรรพากรเข้าถ้าไม่เหลือบ่าฝ่าแรง มีการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มต่อเนื่องทุกเดือน ก็อธิบายได้พูดได้ เจ้าหน้าที่สรรพากรเขาถือว่าเขามีผลงานแล้วก็เจรจาไม่ยาก ผ่านบ้างเสียบ้างไม่เยอะ ถือว่าเป็นค่าเสียเวลา หาเงินเข้าหลวงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เจ้าหน้าที่สรรพากรเขาก็ถูกบีบมาให้หาเงินเข้าหลวงเยอะๆ เขาก็ต้องเล็งไปที่ภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้เป็นกอบเป็นกำมากกว่า

จ่ายแล้ว จ่ายเพิ่มแล้ว ก็ถือว่าช่วยชาติก็แล้วกัน ส่วนพวกที่ไม่ยอมเข้าระบบภาษีก็หนักหน่อย เจรจาไม่ได้เพราะเจตนาเลี่ยงภาษีแน่นอน เคยมีคนโดนย้อนหลัง 10 ปี นับตัวเลขไม่ถูก เขาเล่าๆ ต่อกันมาว่าโดน ย้อนหลัง 3 ปีนี่เรื่องปกติ

เดี๋ยวกฎหมายอีเพย์เม้นต์ผ่าน คงหนาวๆ ร้อนๆ กันเพียบ ผู้ค้าออนไลน์ หนีภาษีถูกจับได้ไม่ใช่เรื่องของดวง ขอย้ำไม่ใช่เรื่องดวง

มีอีกประเภทสินค้าไม่มี มอก. มันก็บวกมากับสินค้าหนีภาษี โดยส่วนใหญ่จะเรียกว่าถูกกฎหมายก็ไม่ใช่ ถึงแม้ว่าสินค้าจะไม่เป็นภัยต่อความมั่นคง แต่มันหนีภาษีเข้ามาถ้าเจ้าหน้าที่เจอก็ต้องไปเสียค่าปรับ เยอะอยู่เหมือนกันแต่ไม่บอกว่าทำยังไง

สินค้าหนีภาษีต้นทางอยู่ต่างประเทศ กลางทางพวกชิปปิ้ง ผู้นำเข้า ปลายทางคือผู้ค้า

ล่าสุดชิปปิ้งโดนทะลายข้อมูลผู้นำเข้ามีครบในมือเจ้าหน้าที่ เขาก็ไปหาถึงแหล่งขาย ยกสินค้า มีหมายศาล

จ่ายค่าปรับค่าหนีภาษีกันเยอะ สินค้าไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ก็โดนเฉพาะข้อหาสินค้าหนีภาษี แต่ถ้าเป็นสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์นี่ยิ่งไปกันใหญ่

เขียนแบบเปิดเผยไม่ได้ เคยใช้พรรคพวกที่เป็นทนายเข้าเจรจา โดยเฉพาะสินค้าหนีภาษีเล็กๆ น้อยๆ ราคาไม่เท่าไหร่ ก็ต้องจ่ายค่าปรับ ไม่บอกแล้วกันว่าเคลียร์ได้ไม่ได้ จบไม่จบเจรจายังไง

ล่าสุดลูกค้าที่สำนักงาน โทรมาเล่าเจอลูกค้ามาทางอินเตอร์เน็ต เข้ามาที่ร้านแจ้งสินค้าจะเอาตัวหนึ่ง ซึ่งในเน็ตก็ไม่ได้โชว์เพราะสินค้าหมด ก็หัวเสีย โมโห หาว่าต้องเสียเวลาเดินทางมา ถูกขู่จะฟ้องสรรพากรว่าเสียภาษีหรือเปล่า แล้วก็ถ่ายภาพร้านไป

บังเอิญลูกค้ารายนี้จ่ายภาษีดีต่อเนื่องก็เลยไม่น่าห่วงเท่าไหร่ แต่เขาได้ให้เบอร์ที่ทำงานผมไป เผื่อลูกค้าที่มีปัญหากับเขาสงสัยเรื่องภาษี ว่าจ่ายหรือเปล่าหนีภาษีหรือเปล่า จะได้โทรมาถามโดยตรง

ถ้าจะเฮี้ยวไปฟ้องสรรพากรก็ไม่ผิดมันเป็นสิทธิ์ของเขา

ได้แต่บอกลูกค้าใครที่มาถ่ายหน้าร้าน ถ่ายหน้าคน เอาไปแชร์ทำให้เราเสียหาย ฝากบอกคนที่กำลังถ่ายด้วย มันผิด พรบ.คอมฯ

พลาดเดี๋ยวจะมาร้องไห้ฟูมฟายว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะมันเป็นคดีอาญารู้ยัง

พยายามไม่เขียนเป็นภาพแม็คโคร เจาะไปที่ภาพไมโคร จุดเล็กๆ ในสังคม เพื่อจะได้ใกล้ตัวมากขึ้น

อย่างเรื่องภาพใหญ่ เช่นปัจจุบัน เขาคุยกันเรื่องบิ๊กดาต้า ข้อมูลมหาศาลเกี่ยวกับลูกค้า เราสามารถใช้ประโยชน์ได้หรือไม่

หรือคุ้มกับที่ลงทุนกันมหาศาลหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องวิเคราะห์กันให้ชัด ถ้าเสียเงินเพื่อให้ดูเท่ เพื่อจะได้บอกใครต่อใครว่าบริษัท ลงทุนเรื่องข้อมูลบิ๊กดาต้า คงไม่จำเป็น สำหรับเอสเอ็มอี

โลกการค้าเปลี่ยนแปลงเร็วมาก

ในอดีตมีการพูดกันว่า ตำราการตลาด แค่ไม่อ่าน 3 เดือนจะตกยุค

เดี๋ยวนี้เร็วกว่านั้น ผมว่าทุกๆ ด้านด้วยไม่ใช่แค่เรื่องการตลาด

ไม่อ่านต่อเนื่องก็ตกยุคทันที

สาม สอเสือ