7 เมษายน 2559

กว่าจะหาเวลาว่าง และพอมีสติในการเขียนเรื่องบัญชีเล่มเดียว อีกครั้งก็เล่นเอานานโข ชีวิตก็แบบนี้พอไม่มีอะไรบังคับก็เรื่อยๆ เฉื่อยๆ เพราะหน้าที่หลักคือ สำนักงานบัญชี นี่ถือเป็นงานแถม

บังเอิญตลอดระยะเวลา 1 เดือนกว่าๆ ก็มีข่าวสารเพิ่มเติมมาบ้าง ทั้งจากเอกสารราชการคำชี้แจงกรมสรรพากร และจากข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ ที่มีการออกข่าวมาเรื่อยๆ จากการให้สัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องกับภาษี เช่น อธิบดีกรมสรรพากร หรือจากกระทรวงการคลัง เรื่องบัญชีเล่มเดียว ผูกโยงไปกับ Epayment การตรวจสอบบัญชีธนาคารโดยไม่ได้ต้องไปขอจากผู้เงินได้

เจ้าหน้าที่สรรพากร สามารถเรียกดูได้เลย ว่าพวกคุณมีความเคลื่อนไหวทางบัญชีแบบใดบ้าง ทั้งออมทรัพย์ และกระแสรายวัน ตามข่าวมันครอบคลุมหมด แต่เรื่องนี้ยังไม่เป็นกฎหมาย เพราะจะมีการเสนอคณะรัฐมนตรี เดือนมิถุนายนนี้

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ได้ให้สัมภาษณ์ดังนี้ ขณะนี้กรมกำลังแก้ไขกฎหมายเพื่อขอข้อมูลบุคคลที่ 3 กับธนาคาร เพื่อว่าต่อไปถ้ามีการจ่ายเงิน หรือมีการนำฝากเงินสด หรือเช็คฝากไว้ที่ธนาคาร ระบบจะแจ้งเตือนมายังกรมสรรพากร ทันทีและถ้าเงินที่ผิดปกติ กรมสามารถเรียกเจ้าของเงินมาชี้แจงได้ว่าได้รับเงินดังกล่าวมาจากไหน เพื่อดูว่ามีการเสียภาษีอย่างถูกต้องหรือไม่ ซึ่งตรงนี้จะเป็นแนวทางหนึ่งในการเรียกเก็บภาษีจากกลุ่มดารา นักร้อง ที่มีรายได้สูงๆ

กรมจะเสนอแก้ไขกฎหมายไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ช่วงเดือนมิถุนายน และระหว่างนั้นจะวางระบบไอทีเพื่อเชื่อมข้อมูลกับธนาคาร ถ้าระบบเสร็จ กฎหมายแก้ไขเรียบร้อย ต่อไปกรมจะสามารถเปิดดูข้อมูลทางด้านการเงินของผู้เสียภาษี ได้ทั้งหมดไม่เฉพาะดารา ซึ่งคาดว่าทั้งกฎหมายและระบบไอที ที่ปรับปรุงจะเสร็จในปี 2560 น่าจะทำให้รายได้ของกรมปรับเพิ่มขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท

ข่าวการในสัมภาษณ์ครอบคลุมประมาณนี้

ลูกค้าพยายามถามผมเสมอว่า กฎหมายผ่านแล้วจะเป็นยังไง บางคนว่าจะผ่านหรือไม่ ข้อแรกพอตอบได้ แต่ข้อสองนี่ไม่รู้เลยผ่านหรือไม่ผ่าน บางรายถามผมว่าถ้าผ่านในอนาคตประเทศไทย กลับมาเป็นรัฐบาลปกติจะยกเลิกมั้ย ผมบอกได้คำเดียวว่ายาก เพราะเงินเข้าคลังแล้ว ไม่ว่ารัฐบาลจะมีที่มาจากไหน เขาไม่ยกเลิกให้หรอกครับ เรียกว่า อ้อยเข้าปากช้าง

เรื่องบัญชีเล่มเดียวมันผูกโยงกันหลายเรื่อง เขาต้องการให้ประชาชนคนทำการค้า มีรายรับเท่าไหร่ก็ต้องมาคำนวณภาษี โดยเฉพาะตอนที่แล้วผมเขียนถึงเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม นั้นก็คือประเด็นใหญ่ เพราะเจ้าหน้าที่สรรพากรเขาต้องการให้การค้าเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะเป็นเงินรายรับประเทศที่เข้าได้เร็วที่สุด และมากที่สุด

เราไม่ต้องพูดถึงผู้ที่เข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่มมาแล้ว ทั้งนิติบุคคล หรือ บุคคลธรรมดา ก็เลี่ยงภาษีนั่นเรื่องปกติ ของคนไทยจะเห็นกันบ่อยในชีวิตประจำวัน คุณลองไปเดินตามแหล่งการค้าใหญ่ เอาแค่ในเมืองกรุง เวลาเราไปซื้อสินค้าเขาไม่ออกบิลอย่างถูกต้อง ถ้าต้องการถูกต้อง ขอบวกภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7 เปอร์เซนต์

ยกตัวอย่าง สำเพ็ง บางลำภู ประตูน้ำ พันธุ์ทิพย์ โบ๊เบ๊ ศูนย์ไอที ห้างสรรพสินค้าแบบพลาซ่า ร้านเช่า

ประเด็นเรื่องบัญชีเล่มเดียวมีเรื่องให้ต้องพูดประเด็นเดียว คือ สรรพากร ให้ลงบัญชีนิติบุคคล รับจ่ายตรงไปตรงมารับรู้ตามจริง (แล้วสรรพากรจะรู้มั้ยว่าเราทำตามจริงหรือไม่)

มีคำยกเว้นให้ ถ้านิติบุคคลลงทะเบียนบัญชีเล่มเดียว จะไม่มีการตรวจสอบบัญชีย้อนหลัง อันนี้จากปากคำเจ้าหน้าที่สรรพากรนะครับ ยังตรวจเหมือนเดิมเพียงแต่ไม่ลามประเด็นอื่น ถ้าพบความผิดเรื่องใด ก็จะตรวจเรื่องนั้นไม่ใช่ไม่ตรวจ ถ้าถูกตรวจว่าหลีกเลี่ยงภาษี ข้อกำหนดเป็นผู้ทำบัญชีเล่มเดียวได้รับการยกเว้นภาษี ก็จะถูกยกเลิกตามไปด้วยต้องไปเสียภาษีเหมือนเดิม

แต่ที่สำคัญกว่าเรื่องบัญชีเล่มเดียว คือกฎหมายที่จะเข้าเดือนมิถุนายนนี้ โดยปกติเจ้าหน้าที่สรรพากร เวลาต้องการดูเอกสารสมุดบัญชีธนาคารของผู้เสียภาษี หรือผู้ต้องสงสัยว่าเลี่ยงภาษี จะมีเอกสารให้ผู้ค้าเข้าพบเพื่อมาแสดงให้เจ้าหน้าที่ดู จะเป็นการย้อนหลังสมุดบัญชีธนาคาร 1 ปี 2 ปี 3 ปี กี่เล่มต่อกี่เล่มกี่ธนาคาร นั่นอีกเรื่องหนึ่ง

ถ้ากฎหมายผ่านเจ้าหน้าที่สามารถดูสมุดบัญชีธนาคารเราได้เลยตามข่าว โดยใช้การเชื่อมโยงหมายเลขโทรศัพท์ หรือหมายเลขบัตรประชาชน เข้ากับบัญชีธนาคาร หรือตรวจจับการค้าบนออนไลน์ ผ่านการจดทะเบียนเว็บไซต์ หรือผู้ค้าออฟไลน์ เจ้าหน้าที่สามารถเห็นทุกบัญชีเราได้เลย เรียกว่าคุณมีเงินเข้าบัญชีซ้ำๆ จำนวนคล้ายกัน เสมือนเป็นการขายของ หรือเข้าเป็นก้อนถ้ามีข้อสงสัยจากเจ้าหน้าที่ คุณชี้แจงได้ว่าไม่ใช่รายรับจากการขาย แต่เป็นเงินโอนจากญาติ จากพี่น้อง จากพ่อแม่ จากเพื่อน จากแฟน ถ้าเขาเชื่อก็ผ่านไปด้วยดี แต่จากประสบการณ์คือไม่เชื่อ

เงินเข้าบัญชีซ้ำๆ จำนวนเดียวกัน ใกล้เคียงกัน บอกยากว่าไม่ใช่เงินจากรายรับจากการค้า เรื่องนี้เคยผ่านเหตุการณ์มาแล้วถูกประเมินย้อนหลังทั้งหมด ลูกค้าโดนไป 2 ล้านกว่าก่อนจดบริษัท ก่อนมาเป็นลูกค้าที่ผม โดนรูปแบบบุคคลธรรมดา เกือบ 3 ปี ทุกวันนี้ยังผ่อนไม่หมด จะหมดได้ยังไงดอกเบี้ยรายเดือนมันเกิดขึ้นตลอด เดือนละ 1.5%

นอกจากนั้นที่จะฝากอีกเรื่องอันนี้กฎหมายผ่านแล้ว ในพระราชกำหนด ยกเว้นและสนับสนุนการปฎิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร พ.ศ.2558 มาตรา 8 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย จะดำเนินการที่จำเป็น เพื่อให้สถาบันการเงินที่อยู่ในกำกับดูแล ใช้บัญชีและงบการเงินที่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแสดงต่อกรมสรรพากร ในการยื่นรายการภาษีเงินได้ เป็นหลักฐานในการทำธุรกรรมทางการเงิน และการขออนุมัติสินเชื่อกับสถาบันการเงิน

ผมพยายามเขียนบทความให้สั้นกระชับ เพื่อให้คนไม่นิยมอ่านหนังสือได้อ่านกันบ้าง แต่ก็คงกระชับได้แค่นี้

บางคนผมอยากจะบอกว่า รู้แล้วไม่นำพาก็เรื่องของคุณ

สาม สอเสือ