พรบ.ไซเบอร์

พรบ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ กับคำพูดที่ว่า ไม่ได้ทำผิดแล้วจะกลัวอะไร คำพูดนี้ไม่ได้สะท้อนข้อเท็จจริงสภาพแวดล้อมของสังคมไทย

ปัจจุบันนี้การค้าขายบนโลกออนไลน์ ในประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ผมไม่มีข้อมูลว่าเติบโตแค่ไหน กิจการหลายอย่างที่ไม่ได้ทำการค้าในโลกออนไลน์ แต่ก็ทำประชาสัมพันธ์ในโลกออนไลน์ หวังให้คีย์เวิร์ดไปติดอันดับใน Google ผ่านเว็บไซต์ของบริษัท หรือของส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโลกโซเชียลมีเดีย ก็ประชาสัมพันธ์ธุรกิจการค้าของตัวเองได้อีก

ทุกวันนี้คนไทยมี เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ ไอจี ยูทูป รวมถึงเว็บไซต์ของตัวเอง มีอีเมล์แอดเดรส คนละหลายแอคเคาท์ เพราะฉะนั้นเราก็โลดแล่นอยู่บนอินเตอร์เน็ต ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การค้าขายผ่านเน็ตบูมขึ้นอย่างมาก เพราะมันสะดวกต้นทุนน้อย ดีกว่าเปิดร้านเป็นห้องแถว หรือในห้างร้านที่ต้องใช้ต้นทุนมหาศาล

เราสามารถเปิดร้านขายบนเน็ต ทำงานที่บ้านปัจจุบันคนยุคใหม่ ใกล้ไอที เบื่อๆ การทำงานที่ต้องรับเงินเดือน ได้น้อยบ้างมากบ้าง ไม่มีเวลาบ้าง หันมาค้าขายบนออนไลน์ก็ไม่น้อย

เรื่อง พรบ.ไซเบอร์ ใครที่ติดตามเรื่องนี้ จะเห็นมีการสัมมนาเกี่ยวกับ พรบ.นี้กันมาก เพราะมีผลกระทบต่อคนไทยทุกคน โดยเฉพาะเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัว ถ้า พรบ.ผ่านเจ้าหน้าที่รัฐมีกฎหมาย สามารถเจาะระบบได้เลย โดยไม่ผิดกฎหมาย โอ้แม่เจ้า

คำพูดที่บอกว่า ไม่ผิดกลัวอะไร อันนี้ขนลุกซู่เลยครับ ถ้าไม่ผิดแล้วกลายเป็นผิดแล้วไง เห็นกันอยู่ทุกวันดาษดื่นบนหน้าหนังสือพิมพ์

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเจ้าหน้าที่รัฐรายนั้น ไม่มีเรื่องส่วนตัว ไม่มีการกลั่นแกล้ง นี่แหละคือสิ่งที่ทุกคนกลัว อย่างยุติธรรมที่ไม่เสมอภาคแบบไทยๆ

รัฐบาลมาแล้วก็ไป ไม่ว่าจะมาจากการยึดอำนาจ หรือเลือกตั้ง แต่รัฐทิ้งมรดกให้สังคม ด้วย พรบ.นี้ได้หรือครับ

เรามั่นใจการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กำกับดูแล ได้ทุกรายหรือครับ

ผมว่าเราก็เห็นๆ กันอยู่ความวุ่นวายขณะนี้ของประเทศ ของสังคม มันเกิดจากมาตรฐานการบังคับใช้กฎหมาย ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน สังคมตั้งคำถามเสมอว่า ทำไมคนนั้นผิดคนนี้ไม่ผิดทั้งๆ ที่ทำเรื่องเดียวกัน

เล่าย้อนหลังเมื่อหลายปีก่อน ผมเองตัดสินใจอยากที่เว็บไซต์ของตัวเอง ก็เริ่มอ่านหนังสือวิธีเขียน วิธีออกแบบ โปรแกรมที่เกี่ยวข้องโดยส่วนใหญ่รู้อยู่บ้าง โปรแกรมตกแต่งภาพ แต่โปรแกรมออกแบบเว็บไซต์เป็นเรื่องใหม่ เรื่องนั้นคงไม่เกี่ยวเท่าไร แต่เป็นเรื่องที่ผมกังวลขณะนั้น ผมอยากทำห้องกระทู้ ในเว็บไซต์

พี่ชายผมเองซึ่งอยู่ในวงการนี้แต่เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง ได้เตือนว่าเรามีเวลาเฝ้ามอนิเตอร์เว็บไซต์หรือไม่ ถ้าไม่มีอย่าไปทำเลย เราอยากเขียนอะไรก็เขียน แต่ถ้ามีห้องกระทู้แล้วเราไม่ดูแล อาจมีข้อความหมิ่นประมาท ยุคนี้เจอข้อมูลผิด ม.112 ก็เสี่ยงแล้ว แม้เราไม่ได้เขียน

ผมเองก็รู้ว่าตัวเองไม่ได้มีเวลาขนาดนั้นนั่ง จ้องมอนิเตอร์ หรือคอยตอบคำถามผ่านเว็บไซต์ ถ้าเป็นห้องกระทู้

ผมเริ่มตัดสินใจถอดห้องกระทู้ออกในช่วงแรก เพียงเปิดผ่านไปไม่กี่วัน บอกตามตรงกลัวครับ

หลังจากนั้นเห็นมั้ย หลังปี 53 เว็บไซต์หลายแห่งผิดกฎหมายทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้เขียน อย่างประชาไท ขนาดเป็นเว็บไซต์มืออาชีพยังไม่รอด นี่ไม่รวมเว็บอื่นๆ อีกเพียบที่เราไม่รู้

ขนาดมีกฎหมายแค่นั้น คนทำห้องกระทู้ยังเสียวสันหลัง นี่ถ้ามี พรบ.ไซเบอร์ เพิ่มมาอีกตัว ทั้งให้สิทธิ์เจ้าหน้าที่แฮค ยึดเครื่องคอม เครื่องมือโดยไม่ต้องมีคำสั่งศาล แค่เชื่อว่าเป็นภัย

ผมว่าพอมี พรบ.ไซเบอร์ ออกมาไม่ใครก็ใครก็โดนกันบ้าง กลั่นแกล้งกันบ้าง

เศรษฐกิจดิจิตอล คงเหี่ยวพิลึก

บันทึกไว้ 23 กุมภาพันธ์ 2558

สาม สอเสือ