กระชับพื้นที่

ผมหยุดการเขียนไปนานเกือบ 2 เดือนด้วยภาระทางบัญชีที่ใกล้วันส่งงบการเงิน และด้วยจิตใจที่ว้าวุ่นอย่างเต็มที่ จับต้นชนปลายไม่ถูกไม่รู้ว่าจะเริ่มจากเรื่องอะไรดี ด้วยความไม่สงบที่เกิดในบ้านเมือง แต่ก็เป็นการหยุดการเขียนสำหรับเว็บไซค์ตัวเอง เพราะกังวลกับมาตรการณ์ของ ศอฉ.จะแปลว่าศูนย์อะไรก็แล้วแต่ ที่ไล่ปิดเว็บไซต์คนไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลเป็นว่าเล่น แต่การเขียนของผมก็ยังเหมือนเดิมไปอยู่กับบล็อก หรือ กระทู้ ในเว็บไซต์ต่าง ๆ โดยเฉพาะเว็บไซต์พันธ์ทิพย์ ห้องราชดำเนิน แต่ช่วงหลังขอระงับตัวเองเพราะเกิดความแตกแยกอย่างสูง

ถึงวันนี้บ้านเมืองเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง หลังจากมีคนตายตามข่าว เกือบ 80 ชีวิต บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน จากการขอคืนพื้นที่ และ กระชับพื้นที่ ที่เป็นคำฉ้อฉนที่ฟังแล้วน่าหัวร่อเพราะรวมความแล้วก็คือ การล้อมปราบประชาชนมือเปล่าเว็บไซต์ต่างประเทศลงกันทั่วไปหมด นอกจากนั้นเว็บไซต์ที่ถูกบล็อกจากกระทรวงไอซีที แต่มีโปรแกรมทะลุทะลวงได้ ก็พอจะให้ผมเข้าไปดูไปอ่านไปค้นหา เหตุการณ์ความไม่สงบบนเวทีถนนราชประสงค์ และเวทีบนถนนราชดำเนิน ภาพเหตุการณ์ และการให้สัมภาษณ์นักข่าวต่างประเทศที่ประสบเหตุการณ์ทั้ง 2 ครั้งมันเป็นคนละเรื่องกับที่ได้ยินทางฟรีทีวี

มันเป็นเรื่องของกรรม กรรมของใครของมันแบ่งปันกันไม่ได้ ไม่ว่าจากผู้ชุมนุมทุกฝ่ายทุกสีเสื้อ ไม่ว่าจากรัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีของไทย ผลกรรมย่อมตามมาไม่วันใดก็วันหนึ่ง และเชื่อว่าเหตุการณ์ร้ายแรงขนาดนี้ กรรมตามมาเร็วแน่นอน

ย้อนกลับมาเรื่องวาทะกรรมเกิดใหม่ในยุคนี้ ขอคืนพื้นที่ และกระชับพื้นที่ หรือกระชับวงล้อม และมีอีกหลายคำบนหน้าอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นคำว่า อย่ามาเหวง คือพูดไม่รู้เรื่อง กับ อย่ามามาร์ค คือ การโกหก เป็นการตอบโต้ของนักรบไซเบอร์ โดยเฉพาะ 2 คำแรกที่มีข่าวเล็ก ๆ จาก นางกาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิตสถาน และนายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย ว่าจะมีการพิจารณาศัพท์ใหม่ที่เกิดในช่วงความวุ่นวายให้มีการบัญญัติในพจนานุกรม ซึ่งหลายคำยังไม่มีการบัญญัติศัพท์ไว้อย่างชัดเจน

เช่นคำว่า ขอคืนพื้นที่ กระชับพื้นที่ พื้นที่สุ่มเสี่ยง และเห็นว่ามีอันตรายแต่ไม่สามารถระบุได้ชัดเจน ก่อการร้าย เป็นต้น

ที่ราชบัณทิตสถาน ได้จัดทำพจนานุกรมฉบับวัยรุ่น เช่น เด็กสก๊อย เด็กแว้น มีอีก 2 คำเกิดใหม่ถ้าหากบรรจุไว้คงฮาไม่น้อย เพราะเดี๋ยวนี้เผยแพร่บนอินเตอร์เน็ตทั่วไปเช่น อย่างมาเหวง และอย่ามามาร์ค

นอกจากนั้น นางสุรีย์รัตน์ วงศ์เสงี่ยม ผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้กล่าวถึงความคืบหน้าการเตรียมการจัดทำจดหมายเหตุแห่งชาติบันทึกเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองว่า ได้เตรียมหารือว่าจะบันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ในจดหมายเหตุประเทศไทย หรือจะแยกเป็นเล่มเฉพาะ เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้ได้ใช้คำศัพท์ใหม่ ๆ และคำสำคัญ ๆ อาทิ แผนปรองดองแห่งชาติ, เยียวยา , กระชับพื้นที่ , การขอคืนพื้นที่ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อบันทึกให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา

ผมอยากอ่านจดหมายเหตุประเทศไทย ฉบับนี้มากที่สุดจะบันทึกเหตุการณ์พร้อมคำศัพท์ใหม่ ๆ ไว้อย่างไรเช่น ขอคืนพื้นที่ มีคนตายไปกว่า 20 ศพ หรือ กระชับพื้นที่มีคนตายไปกว่า 50 ศพ คนบาดเจ็บร่วม 2,000 คน ตึกโดนเผาไปหลายสิบแห่งทั่วประเทศ โดยเกิดในยุคที่ประเทศไทย มีนายกรัฐมนตรีชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ภาพข่าว และเนื้อข่าว จากสื่อกระแสหลักทั้งหนังสือพิมพ์ และทีวี มีแต่ข่าวความทุกข์ระทมของการสูญเสียตึก ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ ทั้งจากเนื้อข่าว และการรายงานข่าว พิธีกรข่าว ที่ออกมาเล่าข่าวด้วยความทุกข์ระทมของการสูญเสียตึก และจีดีพี ของประเทศ มันน่าแปลกใจมากครับประเทศนี้ คนมีค่าน้อยกว่าตึก

ข่าวจะเป็นอย่างไร สังคมจะเป็นอย่างไร ผมก็ได้แต่นั่งดู และฟัง ข่าวให้รอบด้าน แม้แต่เว็บไซต์ที่ถูกบล็อก ทั่วไปหมด

แต่มีอย่างหนึ่งผมได้คำที่เอาไว้ใช้ในวงเพื่อนฝูงแล้วครับ

เดี๋ยวก็กระชับพื้นที่เสียหรอก ไม่อยากด่าให้เสียบทความ แต่โคตรเศร้า

บันทึกไว้ 27 พฤษภาคม 2553

สาม สอเสือ