30 ธันวาคม 2559
ไม่ทันตักบาตร
ตื่นเช้าตี 4 กว่าๆอากาศหนาวมากแต่ก็ไม่รีบร้อนที่จะเข้าเมือง เฉื่อยแฉะตามประสาการไปเที่ยวพักผ่อน อีกทั้งไม่คิดว่าใส่บาตรซึ่งเป็นไฮไลท์ของหลวงพระบาง จะเช้ามากผมคิดว่าประมาณซัก 7 โมงเช้าน่าจะทัน ฟ้าสว่างพอจะได้ถ่ายภาพสวยๆ มาฝาก ก็เลยนั่งจิบกาแฟซองชิลๆ ไปเรื่อยๆ กว่าจะออกจากรีสอร์ทก็ 6 โมงกว่าๆ
คิดว่าขับมอเตอร์ไซค์แป๊บเดียวก็ถึง ฝ่าความหนาวออกไป เสื้อกันหนาว 2 ตัวไม่รวมเสื้อแขนยาวอีก 1 ตัวเป็น 3 ตัว แต่ใส่กางเกงขาสั้น แต่ที่เย็นที่สุดคือมือ ไม่มีถุงมือ ขับไปสั่นไปเย็นจับใจ สั่นเหมือนคนป่วย แต่ก็ต้องไปให้ถึง
ด้วยศรัทธาอันแรงกล้า (ฮา)
จริงๆ จากที่พักไปที่ตักบาตรในเมือง ก็ไม่ไกลมากใช้เวลาขับช้าๆ ไม่เกิน 20 นาที ก็ไปถึงบริเวณเมืองเก่าหลวงพระบาง ถิ่นมรดกโลก ดูเวลาประมาณ 7.10 นาฬิกา
แปลกใจทำไมไม่มีคนเตรียมใส่บาตร นักท่องเที่ยวไปไหนหมด ถนนกลางเมืองโล่ง ผมก็ขับมอเตอร์ไซค์ไปเรื่อยๆ มีคำถามในใจ เฮ้ย พระไม่กินข้าวเหรอ ในใจมีคำตอบเป็นไปไม่ได้ พระไม่ฉันเช้าจะอยู่ยังไง ผมถามตัวเองต่อ หรือเรามาช้า ผมขับมอเตอร์ไซค์วนตามความจำในอดีต หรือว่าเขาตักบาตรกันที่อื่น ผมขับทั่วเมืองหลวงพระบางจนแน่ใจว่าไม่มีแน่
เลิกแล้วมั้ง มี 2 แบบเขาเลิกตั้งบาตรกันแล้ว หรือเขาตักบาตรกันเสร็จแล้ว เพราะมาเที่ยวรอบนี้ไม่ได้อ่านอะไรเลย
ด้วยความรีบออกมาและมัวแต่ดื่มกาแฟ ก็ไม่ได้เข้าห้องน้ำเช้า ซึ่งเป็นปกติของท้องไส้ เอาไงดีปกติสถานที่ท่องเที่ยว ผมก็ไม่ได้ไปเที่ยวห้องน้ำหรือห้องส้วมแน่ (ฮา) แล้วก็ไม่รู้ว่าอยู่ไหนที่สะอาดพอ ตอนนั้นที่พอจะคิดได้ก็ร้านอาหารที่ไปกินเมื่อวาน
มาถึงก็สั่ง ชา กาแฟ ถือโอกาสผ่อนภาระในท้องจากหนักให้เป็นเบา ได้โอกาสถามแม่ค้าเรื่องตักบาตร ได้คำตอบพระท่านออกเวลา 5.30 ถึง 6.00 นาฬิกา นี่ผิดเวลาไปชั่วโมงกว่าพระกลับเข้าวัดหมดแล้ว
ไม่เป็นไรเดี๋ยวพรุ่งนี้ค่อยแก้ตัว
การมาหลวงพระบางจุดเก็บภาพที่ดีที่สุดสำหรับผม ก็คือภาพบรรยากาศตอนเช้าตักบาตร พระจะเดินไปแถวยาวเขาจะตักบาตรข้าวเหนียว ผมว่าที่นี่เป็นที่แรก
หลังจากนั้นเห็นเมืองไทยไปเลียนแบบกันหลายจังหวัดในภาคอีสาน หรือผมเข้าใจผิดก็ไม่รู้ครับเพราะนั่นเป็นเรื่องเมื่อกว่า 20 ปีแล้ว
ผิดหวังกับวันนี้ไม่เป็นไร ว่าแต่ตอนนี้เอาไงต่อขับออกมาแล้วจะกลับก็เสียเที่ยว ก็เลยแวะพิพิธภัณฑ์เจ้าชีวิตสว่างวัฒนา เคยมาแล้วเช่นเดียวกัน ก็ไม่ได้ตื่นเต้นแต่ก็ต้องเข้าไปเพื่อถ่ายภาพเช่นเดิม คิดว่าอดีตกับปัจจุบันน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง
ค่าเข้าชมคนละ 30,000 กีบประมาณ 120 บาท เข้าไปก็ถ่ายภาพได้ไม่เยอะ ถ่ายได้แต่บริเวณรอบนอก ในพิพิธภัณฑ์เขาห้ามเอากล้องเข้าต้องเอาไปฝาก เลยไม่มีภาพภายใน ในนั้นเป็นการโชว์ ห้องนอน เครื่องแต่งกาย เครื่องดนตรี ของสะสม ภาพถ่ายสมัยเจ้ายังอยู่ เจ้าชีวิตถ้าเปรียบก็คือกษัตริย์ แต่ปัจจุบันลาวไม่มีแล้ว ใช้เวลาเดินไม่นานสถานที่ไม่ใหญ่มาก
ผมแวะกลับมากินเฝอเนื้อ หรือก๊วยเตี๋ยวเนื้อ ไม่อร่อยครับสำหรับผมแต่มันได้ฟิล เพราะซดซุปร้อนๆ ก็ร้านเดิมที่มากินกาแฟ และชา ตอนเช้า
ก็อย่างว่าเป็นคนติดรสอาหารไทย ติดเผ็ด มันก็คงไม่เหมือนอาหารไทย ต้องอาศัยพริกป่น แล้วก็พริกสดเขาให้มาเป็นเครื่องเคียง จิ้มกับกะปิยัดเข้าปากพอให้ความอยากลดลง เคยเห็นที่หนองคายก็กินแบบนี้พริกสดจิ้มกะปิ
นอกนั้นก็ได้ปาท่องโก๋ และกาแฟดำแบบกาแฟโบราณของไทย อีกรอบ ไม่รู้ใครกินก่อนระหว่าง ลาว กับ ไทย เพราะกาแฟโบราณถ้าจำไม่ผิดเป็นวัฒนธรรมการกินแบบจีน ใช้ถุงผ้าชงกาแฟคั่ว
ผมมาหลวงพระบาง ในอดีตตะเวณอยู่แต่ในเมือง เมื่อ 20 ปีก่อนหากินของรสชาติไทยกินยากโดยเฉพาะน้ำปลา เดี๋ยวนี้มีทั่วไปผมไม่รู้ว่าเขาไม่กิน หรือผมไม่เจอแหล่งที่เขากิน ด้วยความที่เคยเป็นเมืองขึ้นฝรั่งเศสเกือบ 60 ปีเรียกว่า 1 เจนเนอเรชั่น อาหารการกินก็เป็นแบบยุโรปซะมาก ส่วนแบบอุษาคเนย์ เน่าแล้วอร่อยที่นักประวัติศาสตร์เขียนกัน ก็คงหากินยากหน่อย
อีกอย่างน้ำซุปเขาน่าจะปรุงด้วยซอส กับเกลือซะมากกว่าในมุมมองของคนที่ทำอาหาร ชิมก็พอจะรู้ว่าใส่อะไรกันบ้าง
หลังจากจัดการอาหารบนโต๊ะเรียบร้อย ผมก็กลับที่พักเดี๋ยวบ่ายๆ ค่อยออกไปใหม่ นี่คือประโยชน์ของการมีมอเตอร์ไซค์ไปไหนก็ได้ พอถึงที่พักก็สั่งอาหารมากินอีกรอบเพราะกินที่ร้านแค่พอแก้หิว โรงแรมมีอาหารไทยให้กิน โดยเฉพาะผัดกระเพราเนื้อ แกงจืดหมูสับเห็นหอมสด สไตล์จีนแล้วก็สั่งปลาทอดมากิน ผมถามว่าปลาอะไร เขาบอกว่าปลาโขง
ผมก็เออปลาโขง นี่ปลามันพันธุ์อะไรเหมือนสื่อสารกันไม่เข้าใจ หรือเขาฟังไม่รู้เรื่อง หรือผมฟังเขาไม่รู้เรื่อง ว่าเป็นปลาพันธุ์อะไร เพราะมันมาเป็นชิ้นๆ แต่ดูลักษณะน่าจะเป็นปลานิล เพราะเป็นปลาเกร็ดแล้วอีกอย่างตอนเช้าผมเห็น มีคนเอาปลามาส่งที่ฝั่งแม่น้ำเป็นปลานิล
เคยไปกินปลานิลที่เชียงคาน จังหวัดเลยก็เป็นปลาโขงจะไม่คาว เพราะโขงไม่มีดินมีแต่ทรายเนื้อปลาไม่คาว (เรื่องปลาไม่คาวนี่ก็เขียนเป็นเรื่องได้อีกไม่รู้มีเวลาหรือเปล่า)
อาหารในรีสอร์ทก็พอกินได้ระดับหนึ่ง จะให้ดุเดือดเหมือนกินในไทยคงไม่ได้ สำหรับคนติดรสชาติอาหารแบบไทย แต่ที่มีอาหารไทยเพราะผู้จัดการเป็นคนไทย ที่อยู่มา 12 ปี เขาวางรากฐานรีสอร์ทรวมทั้งอาหารไทยด้วย รวมทั้งส้มตำปลาร้า เขาคิดจนเป็นน้ำราดแม่ครัวไม่ต้องคิดต่อเอาคลุกแล้วเสริฟได้เลย
ระหว่างกินอาหารก็นั่งคุยกับ พี่ตุ๋ย ผู้จัดการรีสอร์ท พี่เขาสารภาพเขาไม่ใช่ผู้ชายแท้ เราคุยกันหลายเรื่องทำไมถึงมาอยู่ที่นี่ ทำงานลักษณะนี้ได้ทั้งๆ ที่จบนิติศาสตร์ รามคำแหง ครอบครัวก็มีฐานะมีคนรับใช้ในบ้าน พี่เขาเล่าชีวิตว่าทำอะไรมาบ้าง อยู่ไหนมาบ้าง ผมว่าพี่เขาเก่ง สอนผมเยอะมาก จริงๆ ก็อยากจะเขียนเรื่องนี้เน้นๆ คงไม่เสียมารยาทมั้ง เพราะเขาไม่รู้ (ฮา) แต่ไม่ดีกว่าเวลามีน้อย
บ่าย 3 ผมกลับเข้าเมืองอีกรอบตะเวณริมโขง และแม่น้ำคาน เป็นแม่น้ำอีกสายที่ขนาบเมืองหลวงพระบางอยู่
ผมมาแวะเที่ยววัดอีกรอบ วัดแสงสุขธาราม สมัยก่อนผมมาเก็บเงินค่าเข้าเดี๋ยวนี้ไม่เก็บแล้ว มีแต่หยอดตู้ทำบุญ
แว้นต่อในเมือง จนมาถึงท้ายถนนริงโขงแดดร่มลมตก ก็เลยแวะเสพบรรยากาศ หากินหาพักบ้าง นั่งมองูน้ำโขงและน้ำคานแยกกัน ต้องมานั่งร้านอาหารอีกแล้ว คือไม่รู้จะนั่งตรงไหน ธรรมดาจุดชมวิวมักจะมีร้านอาหารครอบครองพื้นที่ สั่งของกินเล่น และเบียร์ดำลาว 1 ขวดเล็ก ถ่ายภาพจนคุ้ม ก็กลับตอนนี้เหนื่อยมาก เพราะอยู่ในเมืองกรุง ก็ไม่ได้ใช้มอเตอร์ไซค์เป็นพาหนะหลัก ใช้แค่ไปตลาดใกล้ๆ บ้าน นี่ขับเกือบทั้งวันจนเมื่อย กลับที่พักดีกว่าไม่ไหว แล้วก็เย็นมากแล้ว
ไปดื่มของมึนเมาในที่พักเมาก็นอน แล้วก็มีภาระต้องมานั่งเขียนด้วย
เฮ้อ ลำบากไปมั้ยเรา
สาม สอเสือ