ในรูปแบบหนังสือที่เราอ่าน ได้ยินได้ฟัง ผมสรุปสั้นๆ ง่ายๆ ผมว่าจะมีแนวกันอยู่เท่านี้ นิยาย นิทาน เรื่องจริง

เริ่มจากนิยาย ก็รู้ว่าเป็นจิตนาการของผู้แต่ง อิงเรื่องจริงบ้าง ไม่อิงบ้าง จินตนาการล้วนๆ ขึ้นมาเลยก็มี บางอาชีพก็นิยายผสมเรื่องจริงๆ ก็มี คนไม่รู้ก็นึกว่ามั่ว ผมไม่ต้องกล่าวถึงอาชีพอื่นให้สะเทือนใจ เอาแค่บัญชีที่ผมทำ ตัวเลขคือเรื่องจริง แต่ชื่อบัญชีบางทีก็เป็นนิยาย เพื่อให้คนอ่านงบการเงินแล้วเข้าใจ ผมว่าอาชีพทนายก็ไม่แพ้กัน เรื่องจริงอิงนิยาย

นิยาย ที่เราอ่านโด่งดังก็มีกันหลายเรื่อง อิงจากเรื่องจริงก็มีอาจจะเป็นพล็อตเรื่องเล็กๆ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง อย่างเรื่อง คู่กรรม นั้นก็อิงมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นมีจริง ไทยมีจริง บุกเข้ามาไทยจริง แต่ไม่รู้ว่า โกโบริ มีจริงหรือไม่ คงไม่อ้างอิงมากเพราะจุดประสงค์ไม่ได้เขียนเรื่องตรงนี้

นิทาน ก็เป็นเรื่องเล่าผ่านตัวหนังสือ ผ่านเสียง แทบจะไม่มีความจริงเลยก็ว่าได้ เนรมิต ตัวละครขึ้นมาจากสิ่งมีชีวิต หรือไม่มีชีวิต สามารถพูดได้คุยได้ ทะเลาะกันได้ โกรธเกลียดกันได้ นัยว่า นิยาย ผู้เขียน ผู้พูด เพื่อต้องการสื่อ สอนสังคม สอนผู้อ่าน สอนผู้ฟัง ไม่ว่ากระต่ายกับเต่า งูเห่ากับชาวนา อีกมากมายนิทานพื้นบ้าน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พากันกราบไหว้กันทั่วเมือง บางอย่างก็ต้องสร้างนิยาย คือคนเชื่อก็คิดว่าเรื่องจริง คนไม่เชื่อก็บอกหลอก

ต้นไม้ ก้อนหิน ศาลพระภูมิ ผีสาง ให้หวย ตัวเลข ก็ต้องมีนิยายผสม

ส่วนตัวไม่เชื่อ และก็ไม่อยากใช้คำว่า ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ ไม่เชื่อก็คือไม่เชื่อ

เรื่องจริง พวกโนฮาว หุ้น ข่าวประเภทต่างๆ แต่เรื่องจริงก็ดันไปแตะนิทานอยู่บ้าง เพราะทำให้การพูดมีอรรถรส การเขียนอ่านแล้วสนุกไม่แข็งทื่อ มีแต่ข้อมูลแข็งๆ แรงๆ อ่าน ฟังก็ไม่สนุก

ลองไปอ่านข้อกฎหมายแต่ละมาตรา ตัวเลขทางบัญชีกฎหมายภาษี ตัวเลขทางสถิติ วิทยาศาสตร์ การแพทย์ อ่านแล้วเวียนหัวไม่เข้าใจ ทำให้มีผู้เชี่ยวชาญในการพูดการเขียน ก็พยายามมาถอดความให้ง่ายๆ ภาษาง่าย อิงนิทาน นิยาย ผสมกันไปเพื่อให้คนสนใจอ่านฟังแล้วเข้าใจ สนใจ ดึงดูด

การเมืองก็เช่นกันหลังจากการเลือกตั้ง หาเสียงแบบหนึ่ง ทำจริงแบบหนึ่ง จับขั้วแบบหนึ่ง พลิกขั้วกันอีกแบบหนึ่ง

คนติดตามพรรคการเมือง ก็มีแฟนคลับของตัวเอง ยุคก่อนหน้านี้อาจจะมีการสนทนาความขัดแย้ง กันในวงเหล้า วงกาแฟ หวังว่าคงไม่มีในวงส้มตำ ข้าวแกง มันจะกินอาหารกันไม่อร่อย

ในยุคปัจจุบันก็สนทนากันง่ายขึ้น บวกความคิดเห็นกันง่ายขึ้น หัวร้อน ผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีหลายช่องทาง

จนมีการตั้งชื่อกลุ่ม เหลือง แดง สลิ่ม ส้ม เขียว โดยมีเติมคำหน้า เติมท้าย ติ่ง แบก เป็นที่เฮฮา เป็นที่ขุ่นเคืองกันในโซเชียล

ทะเลาะกันเพราะมีชุดความคิดคนละแบบ

เอาแค่เรื่องตระบัดสัตย์ ด้อยค่า ที่คุยกันอยู่ตอนนี้เป็นคำหยาบหรือไม่ ถกเถียงกันหน้าแดงหน้าดำ คร่ำเครียด หมกหมุ่นก็เปลืองสมองหน่อย คนเฉยๆ ก็ปล่อยผ่านไม่เอามาเป็นเรื่อง ให้รกสมอง

บทสรุปของเรื่องก็คือ ที่เราฟัง เราอ่านข่าวกันทุกวันนี้ จากกระดาษจากโซเชียล จากทีวี จากวิทยุ

มันคือ เรื่องจริง นิทาน หรือ นิยาย

สรุปสั้นๆ เรื่องจริง หรือ ละคร วะ

บันทึกไว้ 15 กันยายน 2566

สาม สอเสือ