1 กันยายน 2560

เคยได้ยินคำนี้มั้ยครับ “เกิดเป็นคนไทยต้องรู้กฎหมายไทย” ได้ยินทีแรกจะประสาทมึนงงทันที กฎหมายมันยากขนาดนี้แล้วไม่ได้เรียนมาจะรู้ได้ยังไงฟะ

ความหมายคำนี้เขาคงไม่ได้หมายถึง กฎหมายลึกๆ เอาแค่หยิบทรัพย์ขโมยทรัพย์ ฆ่าคนตาย เป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่บางเรื่อง คนทั่วไปก็ไม่รู้จริงๆ อย่างเมื่อไม่นานมานี้เรื่องเก็บโทรศัพท์ได้ ไม่ยอมคืนเจ้าของทรัพย์ ถ้าจะให้คืนขอค่าไถ่เป็นเงิน กลายเป็นประเด็นในโลกออนไลน์ เพราะจริงๆ แล้วคนเก็บโทรศัพท์ได้ แล้วไม่คืนเจ้าของ มันผิดข้อหาลักทรัพย์ เป็นโทษอาญาแผ่นดินยอมความไม่ได้ (ถ้าจำไม่ผิด)

ที่เขียนมานี้ไม่ใช่จะมาอธิบายในข่าว เพราะผมเองมีอาชีพทำงานสำนักงานบัญชี ให้บริการลูกค้าทั้งเรื่องการทำบัญชี และบริการยื่นชำระภาษี ให้กับกรมสรรพากร ภาษีมีอะไรบ้างไม่อธิบายทั้งหมดเอาแค่ภาษีพื้นๆ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ที่นิติบุคคลไปเที่ยวหักใครต่อใครไว้ มีทั้งหักนิติบุคคลด้วยกัน และไปหักบุคคลธรรมดา คนที่รู้เรื่องก็คงบอกว่ามันเป็นเรื่องหมูๆ ไม่เห็นต้องเขียน

คนที่มีปัญหามีทั้งคนที่ไม่รู้ และคนที่รู้แต่เสียดายเงินจำนวนนี้ ประเภทหลัง มีเยอะเข้าใจว่าเงินพอมาอยู่ในมือ ก็ไม่อยากจ่ายออกไปพาลคิดว่าเป็นรายรับของตัวเองเพิ่มขึ้น อีกประเภทที่เจอบ่อยก็คือขายของแล้วบอกว่าไม่เคยบวก แวต เพราะจะทำให้สินค้าราคาสูง สู้กับคู่แข่งไม่ได้ โดยเฉพาะผู้ค้าบนโลกออนไลน์ เห็นว่ามีประมาณ 5.2 แสนราย เพิ่มขึ้นเดือนละ 1.5 หมื่นราย ขายของคล้ายๆ กัน สู้กันเรื่องราคาและความรวดเร็วในการตอบสนอง ต่อคำสั่งซื้อของลูกค้า

มีประเภทโกงภาษีโกงแวตก็ไม่ใช่น้อย เรียกว่าผลักภาระไปให้ลูกค้าไปแล้วบวกกับค่าสินค้า เรียกเก็บเสร็จเงินเข้ากระเป๋า เมินเฉยไม่นำส่งสรรพากร พอสรรพากรเขาตรวจสอบทีก็ต้องลุ้น ว่าเขาจะเจอหรือเปล่า ลับๆ ล่อๆ เงินๆ ทองๆ แต่โดยส่วนใหญ่ไม่ค่อยรอด เพราะสรรพากรเขามีข้อมูล หรือจะเรียกว่าพอจะตรวจสอบได้จากยอดซื้อ ยอดขายจริงไม่จริง เชื่อไม่เชื่อ ดูสเตทเม้นท์แบงค์ที่รับโอนเงินสรรพากรก็รู้แล้ว แล้วเขาจะรู้ได้ยังไง ว่าเรามีบัญชีอะไร ก็ไม่ยากอีกนั่นแหละ ก็ล่อซื้อทำตัวเป็นลูกค้าสนใจสินค้า ขอเลขบัญชีโอนเงิน เท่านี้ก็ใสๆ

เจอบ่อยครับต้องอธิบายกันยาวโดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ แต่ค้าขายเก่งๆ บนโลกออนไลน์ จะไม่เข้าใจว่าทำไมต้องจ่ายให้สรรพากร ก็ไม่เคยเรียกเก็บจากลูกค้า

มันเป็นเรื่องสวนทางกันพอสมควร ผู้ประกอบการรุ่นใหม่บนออนไลน์มีเยอะ กลัวก็กลัว เพราะสรรพากรเขาจับได้มีหวังปรับกันยาว บางรายโดนกันที 2-3 ล้านบาท จะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายก็ไม่ได้ เขาไม่ให้สิทธิ์นั้น ก้มหน้ารับกรรมกันไปหลายราย

สิ่งที่มักจะกล่าวอ้างเสมอ ขายก็มีกำไรน้อยแวตก็ไม่ได้เก็บจากลูกค้า ค่าใช้จ่ายคนขายของบนออนไลน์มีอะไรบ้าง นอกจากซื้อสินค้ามาขาย ก็มีค่าโฆษณา ทั้งเฟซบุ๊ค กูเกิ้ล นี่จ่ายกันเยอะมาก เพราะต้องการดันยอดขายให้สูง นอกจากนั้นก็มี ค่าหีบห่อ ค่าขนส่ง ค่าไปรษณีย์ ก็เป็นหลัก

จะบวกภาษีมูลค่าเพิ่มจากลูกค้าก็ไม่กล้า เพราะคู่แข่งก็เยอะราคาก็สูสี พอทุกคนคิดเหมือนๆ กันไม่บวก แวต กับลูกค้า เพราะคนซื้อเขามีทางเลือกแพงกว่าเขาก็ไม่ซื้อ มันเป็นซะงั้น

แต่สรรพากรเขาไม่ได้ใจดีขนาดนั้น เฮ้ย ไม่ค่อยกำไรไม่ต้องเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้

เจ้าหน้าที่เขาก็ทำตามกฎหมาย รายได้ถึงเกณฑ์หรือยัง 1.8 ล้านบาทต่อปีนี่ไม่เยอะนะครับ เดือนละ 1.5 แสนบาท ขายบนออนไลน์วันละ 5,000 บาท เรียกว่าแทบจะเกินทุกเว็บ กฎหมายเขาไม่ให้สิทธิ์คุณถ้ารายได้คุณถึงเกณฑ์ 1.8 ล้านต่อปี ต้องเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มทันที ถ้าจดทะเบียนก็โอเคไป ยอดจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มจากรายได้ ถ้าไม่ยอมจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม จับได้เรียกว่า บรรลัยเมื่อนั้น

มีหลายคนพยายามเสี่ยงโชค เป็นผู้ประกอบการบุคคลธรรมดา จดภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ก็ไม่ยื่นเสียภาษี เพราะไม่รู้จะยื่นยังไง หรือยื่นไม่ครบเสียดายเงิน รัฐส่งสัญญาณตลอดเวลาอยากให้ทุกคนเข้าสู่ระบบภาษี ขี่ม้าเลียบค่ายอยากให้จดทะเบียนบริษัท จะสังเกตว่าอำนวยความสะดวกเรื่องการจดทะเบียนอย่างมาก ถึงขนาดจะแก้กฎหมายให้บุคคล คนเดียวจดบริษัทได้ แต่คนก็ไม่รู้ว่ารัฐเขาส่งสัญญาณอะไร ก็ยังคงทำเหมือนเดิมขายแบบบุคคลธรรมดา สุดท้ายไม่รอด

ล่าสุดมีคนไลน์มาคุย เป็นเพื่อนต่อเพื่อนของลูกค้า อยู่แถวปราจีน เจอจับได้ยอดขายเกิน 10 ล้านต่อปี นี่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นตายร้ายดียังไง ถ้าสรรพากรย้อนหลัง 3 ปี ก็ปาไป 28 ล้านที่เกินต้องจดแวต เอาเฉพาะเนื้อ แวต ก็ปาเข้าไป 1.9 ล้าน ยังมีค่าปรับอีกหนึ่งเท่า เงินเพิ่มอีกรวมๆ น่าจะ ใกล้ 4 ล้าน คนค้าขายบนออนไลน์ ถึงแม้ว่าจะรายได้ดีแต่น้อยนักจะมีเก็บเงินสด 4 ล้านบาท แถมต้องไปใช้หนี้สรรพากร ทุนหายกำไรหด ท้อแท้ หวาดกลัว ประสาทเสีย ลักษณะคนเป็นหนี้หลวงแบบไม่รู้ตัว

คำถามที่ผมเจอบ่อย ทำไมต้องจ่ายให้สรรพากร อธิบายกันยาว ถ้ายังงงกับคำตอบ ก็เริ่มไปอ่านตั้งแต่ต้นกันใหม่

สาม สอเสือ