เริ่มกิจการเมื่อใด
มีการตั้งคำถามแบบนี้บ่อยๆ ไม่ใช่มีแต่ผู้ชายนะครับ ผู้หญิง ก็มีไม่น้อยที่เป็นผู้เริ่มต้นเป็นเจ้าของกิจการประเภทนิติบุคคล
ผมจะแบ่งระยะเวลาไว้เพื่อไม่ให้สับสน ที่จะเขียนจะไม่กล่าวถึงกิจการประเภทบุคคลธรรมดา เช่น ร้านค้า ห้างหุ้นส่วนสามัญ คณะบุคคล ฯลฯ แต่จะกล่าวถึง นิติบุคคล ที่จดทะเบียนในประเทศไทย เช่น บริษัทจำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด
นิติบุคคลอย่างแรก ห้างหุ้นส่วนจำกัด มีผู้ร่วมก่อตั้งไม่น้อยกว่า 2 คน ส่วนบริษัทจำกัด มีผู้ร่วมก่อตั้งไม่น้อยกว่า 3 คนซึ่งมีการแก้ไขมาแล้วจากไม่น้อยกว่า 7 คน เข้าหุ้นลงทุนร่วมกัน ปัจจุบันปี 2566 ได้มีการปรับเปลี่ยนผู้ร่วมก่อตั้ง 2 คนก็สามารถจดทะเบียนนิติบุคคลได้
หลายครั้งที่ผมพบกับคำถามที่บ่อยๆ หลังจากจดทะเบียนนิติบุคคล ทั้ง 2 ประเภทมักจะมีคำถามตามมาว่าสามารถดำเนินการค้าได้เมื่อไหร่ ยิ่งถ้าหากมีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายหลังจะสับสนว่าจะทำการค้าได้เลยหรือไม่ หรือต้องรอให้ภาษีมูลค่าเพิ่มอนุมัติก่อน
สำหรับคนที่ทราบก็ดูจะเป็นเรื่องง่าย แต่คนที่ลงมาเป็นนักธุรกิจหน้าใหม่มักจะสับสน ผมเองจะไม่เขียนระบุลงไปในมาตราทางกฎหมาย เพราะไม่อยากบรรยายมันจะยาว แต่สามารถศึกษารายละเอียดได้จากข้อมูลในเว็บไซต์ที่มีมากมาย ของสรรพากรก็มี
การเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย จะเริ่มต้นโดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ มาตรา 65 ถึง มาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลจะเริ่มต้นเมื่อใด ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะใช้ มาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากรเช่นเดียวกัน
ดำเนินกิจการได้เมื่อใด ต้องขอบอกว่าเมื่อทำการจดทะเบียนนิติบุคคล กับ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือ พาณิชย์จังหวัด ในต่างจังหวัดนอกจากกรุงเทพฯ เป็นที่เรียบร้อยก็สามารถดำเนินกิจการได้เลย เพราะปัจจุบันหมายเลขผู้เสียภาษี ได้เปลี่ยนแปลงจากตัวเลข 10 หลักมาเป็น 13 หลัก ตามหมายเลขทะเบียนนิติบุคคล ที่ได้จากการจดทะเบียน ไม่ต้องดำเนินการขอเลขผู้เสียภาษีอีกครั้งเหมือนในอดีต ความเป็นนิติบุคคลเมื่อจดทะเบียนสำเร็จก็ถือว่าได้เกิดขึ้นบนโลกนี้แล้ว เทียบกับบุคคลธรรมดา มีสูติบัตร
นิติบุคคลที่จดทะเบียนแล้วเสร็จสามารถดำเนินกิจการได้ทันที ออกใบเสร็จรับเงินรับรู้รายได้ ไม่ว่ากิจการขายของ หรือบริการ ย้ำนะครับว่า “ใบเสร็จรับเงิน”
หลังจากนั้นผู้มีความประสงค์ต้องการเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็ดำเนินได้ภายหลัง ซึ่งอาจจะจดเลยก็ได้แต่ก็ต้องไปดำเนินการที่สรรพากรพื้นที่ จะด้วยเอกสารหรือจดทางอินเตอร์เน็ตก็ได้ แต่การดำเนินการขอเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้ทันทีปี 2566
นั่นก็หมายถึงไม่ว่าท่านจะจดทะเบียนวันไหน การแจ้งขอเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องแจ้งล่วงหน้า 15 วันไม่อย่างนั้นจะมีค่าปรับ กฎนี้ยกเลิกไปแล้ว
ขอยกตัวอย่างเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจ เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2556 มีลูกค้ามาขอจดทะเบียนนิติบุคคลประเภทบริษัท การเตรียมเอกสารก็ได้แจ้งไปแล้วว่ามีอะไรบ้าง หลังจากนั้นเป็นขั้นตอนเตรียมแบบฟอร์มเพื่อทำการจดทะเบียน ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้รับจดทะเบียน
บริษัทดำเนินการจดทะเบียนแล้วเสร็จในวันที่ 8 กรกฎาคม 2556 ทางผู้ประกอบแจ้งว่าต้องการ จดทะเบียนขอเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ซึ่งผมได้ดำเนินการจดทะเบียนทางอินเตอร์เน็ต ผ่านช่องทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร และได้ทำการจดทะเบียนในวันที่ 9 กรกฎาคม 2556
อย่างที่แจ้งให้ทราบไว้แล้ว จะต้องแจ้งขอเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วันถ้าบวกตัวเลข ก็ 15 บวก 9 ก็ต้องแจ้งขอเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม หลังจากวันที่ 24 กรกฎาคม 2556 แต่ผมเห็นว่ามันใกล้สิ้นเดือนเนื่องจากจะเกิดภาระในการยื่นแบบ ภพ.30 แบบภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนถัดไปไม่เกินวันที่ 15 ของเดือนถัดไปที่ได้รับการอนุมัติ นั่นก็คือก่อนวันที่ 15 สิงหาคม 2556 ลูกค้าจะต้องยื่น แบบภพ.30 อีกทั้งลูกค้าไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะใช้ภาษีมูลค่าเพิ่ม ผมจึงเลื่อนไปขอวันอนุมัติวันที่ 1 สิงหาคม 2556 ทำให้ลูกค้าจะต้องเริ่มยื่นแบบ ภพ.30 ไม่เกินเดือน 15 กันยายน 2556 ทำให้มีเวลาเตรียมพร้อมอีก 1 เดือนเต็ม
ลูกค้าถามผมว่าจะเริ่มดำเนินการได้เมื่อไร เราต้องแบ่งประเภทไว้ก่อน หลังจากจดทะเบียนนิติบุคคลเรียบร้อยในวันที่ 8 กรกฎาคม 2556 ลูกค้าสามารถดำเนินกิจการได้เลย ถ้าหากมีรายรับให้ออกใบเสร็จรับเงิน แต่ห้ามออกใบกำกับภาษี เพราะยังไม่ได้รับการอนุมัติจากกรมสรรพากร ถึงแม้ปัจจุบันกฎเกณฑ์จะเปลี่ยนก็ยังคงต้องรอ 15 วันให้สรรพากรอนุมัติก่อน เพื่อป้องกันค่าปรับถ้าจดทะเบียนไม่สำเร็จ เคยเกิดเหตุสรรพากรไม่อนุมัติภายหลัง ภาษีขายที่เราออกไปแล้วจ่ายภาษีให้สรรพากรไปแล้วถูกปรับเพิ่มอีก 2 เท่าจากภาษีที่จ่ายไปแล้ว
ลูกค้าจะสามารถออกใบกำกับภาษีได้ ก็ต่อเมื่อได้รับการอนุมัติตามที่ร้องขอคือวันที่ 1 สิงหาคม 2556 ถ้าผู้อ่านจะสังเกตุได้ว่าเวลาไปซื้อสินค้าในใบเสร็จรับเงินจะมีคำว่า ใบเสร็จรับเงิน, ใบกำกับภาษี, ใบส่งของ บางครั้ง หรือรวมกันเลยก็มี อันนี้เป็นรายละเอียดปลีกย่อย จะไม่ขอกล่าวถึงในบทนี้ แต่บางกิจการเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม อาจจะใช้ ใบเสร็จรับเงิน และ ใบกำกับภาษี เป็นใบเดียวกัน ก็ได้
โดยบนหัวใช้คำว่า ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี
สรุปก็คือผู้ประกอบการจดทะเบียนนิติบุคคล กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือพาณิชย์จังหวัด เรียบร้อย สามารถดำเนินกิจการได้เลยให้ออกใบเสร็จรับเงิน แต่จะออกใบกำกับภาษีได้ก็ต่อเมื่อได้รับการอนุมัติจากสรรพากรเท่านั้น
บันทึกไว้ 1 สิงหาคม 2556
สาม สอเสือ