ชิปปิ้ง เทรดเดอร์
ธุรกิจชิปปิ้ง ธุรกิจขายสินค้าส่งออก ทีแรกนึกว่า 2 ธุรกิจนี้ ทุกคนเข้าใจแยกออกจากกัน และมีความแตกต่างกัน เป็นอาชีพคนละแบบคนละเรื่องราว แต่บังเอิญมีลูกค้าโทรมาถามบางเรื่อง จนผมเอะใจว่าเขามีความเข้าใจ 2 ธุรกิจนี้คือเรื่องเดียวกัน ถ้าจะหาสินค้าเพื่อไปขายต่างประเทศ ต้องทำชิปปิ้งด้วย คือลูกค้า อยากเปิดธุรกิจชิปปิ้ง เพื่อส่งออกสินค้าที่เขาขาย เพราะมีออเดอร์ในการขายอยู่ในยุโรปกำลังติดต่ออยู่
ต้องอธิบายยกใหญ่เพื่อให้เข้าใจว่า ชิปปิ้ง กับ ผู้ผลิตสินค้า ผู้ทำการค้า หรือตัวกลางขายสินค้า ส่งออกไปในต่างประเทศไม่ใช่ชิปปิ้ง แต่เป็นผู้ส่งออกสินค้าต้องแยกออกจากกัน กฎหมายภาษีก็ใช้คนละตัว ชิปปิ้งเป็นธุรกิจบริการ กรณีเราไปใช้ชิปปิ้งให้นำเข้า ส่งออกสินค้า ถ้าเป็นนิติบุคคล ผู้จ้างจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% ส่วนผู้ส่งออกสินค้า จะต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่เป็นภาษีแวตเป็น 0 ไม่ใช่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือบวกภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% มีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ
คนรู้เรื่องนี้อยู่แล้วอ่าน อาจจะบอกว่าเอามามะพร้าวมาขายสวน มีด้วยหรือ ชิปปิ้ง กับ ผู้หาสินค้าไปขายต่างแดน เป็นคนๆ เดียวกัน หรือธุรกิจเดียวกัน
เขียนเพื่อคนไม่รู้ก็แล้วกัน เผื่อจะได้มีความรู้เพิ่ม
บทสนทนาวันนั้นลูกค้าจะเปิดบริษัทเพิ่ม บริษัทชิปปิ้ง ผมถามว่าเปิดทำไม ลูกค้ารายนี้ขายขนมสายมู ขายดีมากบนออนไลน์ แต่ผมไม่รู้ว่าหน้าตาขนมสายมู หน้าตาเป็นอย่างไร แต่รู้ว่าสายมูลูกค้ายอมรับเอง
เขามีออเดอร์ส่งขนมหวานไปขายลูกค้าในฝรั่งเศส แต่ไม่รู้ทำยังไงออเดอร์แรกลูกค้าเขาบอกว่า เขามีบริษัทเทรดเดอร์อยู่ในประเทศไทย เรื่องส่งออกเขาทำเอง
ลูกค้าจินตนาการต่อ ถ้าอยากขายเองส่งออกเองให้ลูกค้ารายอื่น ต้องทำบริษัทชิปปิ้งเพื่อจะได้ขายสินค้าเอง
ผมบอกเข้าใจผิดกันไปใหญ่การทำบริษัทชิปปิ้ง ไม่ว่าขนส่งทางน้ำ อากาศ หรือทางบก คนทำชิปปิ้งจะต้องมีใบอนุญาตนำเข้าส่งออก ต้องไปทำที่กรมศุลกากร ไม่เกี่ยวกับการขายสินค้าเขาไม่ใช่ผู้ซื้อ หรือผู้ขาย เจ้าหน้าที่ต้องมีใบอนุญาตจากกรมศุลกากร ทำพิธีทางศุลกากรแทนผู้ขายสินค้า
ส่วนบริษัทลูกค้าสิ่งที่เราต้องการคือขายของไปต่างประเทศ ไม่ใช่ชิปปิ้ง แต่เราเป็นผู้ส่งออกสินค้า พอทำการชิปปิ้งก็จะมีข้อตกลงจะมีการจ่ายเงินเมื่อไหร่ ต้องไปอ่านเพิ่ม เพราะมีกำหนดการชำระเงินหลายแบบในวงการค้า
ผมยกตัวอย่าง สิงคโปร์ โดยส่วนใหญ่ในประเทศเขาไม่มีที่ผลิตสินค้า เพราะประเทศเล็กมากเนื้อที่ไม่พอ เขาจะเป็นตัวกลางเอาสินค้าจากประเทศหนึ่ง ไปขายอีกประเทศ เป็นตัวกลางเป็นเทรดเดอร์ ในอดีตจะเห็นเยอะปัจจุบันผมเองก็ไม่รู้ว่ายังเจริญรุ่งเรืองมั้ย เพราะการติดต่อระหว่างประเทศผู้ขาย ผู้ซื้อ ในต่างแดนติดต่อกันง่ายขึ้น
ถ้าลูกค้ากำลังคุยกับลูกค้าในฝรั่งเศส เขาต้องการขนมไทย ทองหยิบ ฝอยทอง ซึ่งเรามีหน้าที่หาเจ้าที่ผลิตสะอาด และอร่อย ในประเทศเราก็แค่ติดต่อว่าเรามีออเดอร์จากต่างประเทศ แล้วก็ไปซื้อ ทอบหยิบ ฝอยทอง มาแล้วก็ไปส่งออกโดยผ่านชิปปิ้ง เขาจะทำหน้าที่ไม่ว่าขาออก หรือขาเข้า ลูกค้าร้องอ้าวเหรอ เพิ่งเข้าใจว่าการส่งออกเราต้องเป็นชิปปิ้งเอง ขอบคุณซะยกใหญ่ที่ผ่านมาไม่รู้จะถามใคร
ลูกค้าถามว่าผมมีลูกค้าที่ทำชิปปิ้งมั้ย ผมก็บอกว่ามีหลายบริษัท เขายินดีให้คำแนะนำ เราแค่เพียงหาลูกค้าต่างประเทศ และหาสินค้าตามที่เขาต้องการ เพื่อส่งออกเมื่อส่งเสร็จเราก็เก็บเงินกันเอง ส่วนค่าชิปปิ้งเป็นค่าบริการ และค่าธรรมเนียมกรมศุลกากร เราก็จ่ายเขาตรงนั้นไม่เกี่ยวกับค่าสินค้า
จบการอธิบาย ชิปปิ้ง ส่งออก ตัวกลาง ผู้ซื้อ ผู้ขาย
บันทึกไว้ 9 เมษายน 2567
สาม สอเสือ