ไหว้พระมอญเที่ยวสงกรานต์

ห่างหายจากการเขียนมานาน ถ้าหากมีใครตามอ่านยิ่งต้องขอโทษ อย่างว่าไม่ใช่นักเขียนมืออาชีพว่างเมื่อไหร่ สมองโปร่งก็จะมาเขียน

วันสงกรานต์ที่ผ่านมาปี 2549 ผมเองถูกชวนไปบ้านเพื่อนที่เป็นแฟนผู้ตรวจสอบบัญชี ความจริงผู้สอบบัญชี ก็เพื่อนผู้น้องเหมือนกัน ผมก็ไม่รู้หรอกครับว่าบ้านอยู่ที่ไหนสภาพเป็นอย่างไร เพราะด้วยความที่ไม่ค่อยใส่ใจรายละเอียดของใครก็เลยสบายใจไม่ค่อยคิดอะไรมาก ด้วยความที่สงกรานต์ปีนี้ไม่รู้จะไปไหนดี เพราะญาติผู้ใหญ่พากันไปเยี่ยมเทวดากันหมด ก็เลยขอติดไปเที่ยวด้วยอย่างแรกได้ไปไหว้พระแน่นอน เพราะสายนี้ไหว้พระเป็นกิจกรรมหลัก ไม่ใช่คนแก่นะครับ เพราะอายุเพิ่ง 30 กว่าเท่านั้นเอง ผมเองไม่ได้สนใจความมหัศจรรย์ของแก่นแท้พระพุทธศาสนา แต่ผมเป็นคนที่ชอบบรรยากาศในวัด ร่มรื่นและผ่อนคลาย

ก่อนเดินทางผมก็เตรียมสัมภาระ โดยเฉพาะของบริจาคตามสไตล์การท่องเที่ยวแบบผม ของที่เอาไปบริจาคไม่ได้ซื้อเองนะครับพรรคพวกซื้อเอามาให้ช่วงก่อนปีใหม่ แจกไป 2 รอบแล้วยังไม่หมดเพราะด้วยความขี้เหนียวของบริจาค ถ้าหากคนรับดูแล้วไม่ใช่ พิจารณาแล้วยังไม่สมควรได้รับก็ไม่แจกครับ เที่ยวนี้ผมขนเครื่องเขียนไปเยอะ ทั้งสมุด ดินสอ ยางลบ กบเหลาดินสอ สบู่ ไปหลายลังมุ่งหน้าสู่จังหวัดกาญจนบุรี

ผมเองไปมาหลายครั้งที่เมืองกาญจน์ และไม่มีโอกาสได้ไปไกลมากนัก โดยส่วนใหญ่จะเป็นการเที่ยวป่า ใช้โฟร์วิลตะลุยเข้าไป แต่ครั้งนี้จุดมุ่งหมายเราจะไปที่ตำบลบ้านไร่ อำเภอทองผาภูมิ ซึ่งผมเองก็ไม่เคยไป ได้แต่ดูแผนที่ว่าสวยดี บรรยากาศดี ขบวนเราวิ่งผ่านเขื่อนเขาแหลมไปถึงอำเภอทองผาภูมิ ผู้นำคณะบอกว่าต้องวิ่งเลยทองผาภูมิไปอีก 30 กิโลเมตร ก็ไม่ถือว่าไกลเราไปถึงช่วงค่ำ ก็เลยไม่ได้เห็นบรรยากาศของการเดินทางเท่าไรนัก

พอถึงบ้านเพื่อนผมเห็นบ้านผมชอบนะ บ้านเป็นลักษณะของคนบ้านนอกฝาบ้านใช้ไม้ไผ่ขัดแตะพื้นบ้านเรียงด้วยไม้หน้ากว้าง ประมาณ 8 นิ้วลักษณะไม้ดูเก่าแต่มันวาวด้วยความที่เจ้าบ้านเช็ดถูทุกวัน ห้องแบ่งซอยไว้ 1 ห้องด้วยไม้ไผ่ขัดแตะอย่างคับแคบแต่ก็อบอุ่นเป็นกันเอง ไฟฟ้าเข้าถึงแต่ก็ต้องประหยัด เท่าที่ผมเห็นมีหลอดไฟรวมกันแล้วไม่น่าจะเกิน 3 หลอด

ส่วนห้องน้ำทำแยกจากตัวบ้านไม่มีไฟฟ้าต้องใช้เทียน รอบบ้านเต็มไปด้วยต้นไม้แต่กลางคืนไม่เห็นรายละเอียด ผมมารู้ตอนถึงที่นี่ว่าเป็นหมู่บ้านชาวมอญที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย เพื่อนผู้น้องผมก็เป็นชาวมอญหล่อไม่เบาทีเดียว ไปถึงที่เจ้าบ้านเรียกให้กินข้าวซึ่งได้เตรียมไว้แต่เจ้าบ้านยังไม่ได้กิน เราก็มัวแต่โอ้เอ้อาบน้ำไม่คิดว่าเจ้าบ้านจะรอให้คณะของเรากินเสร็จก่อน สำรับอาหารก็ไม่มีอะไรมาก ไข่เจียว ยำปลากระป๋อง และก็เครื่องข้าวแช่ของชาวมอญ เดี๋ยวค่อยเล่าว่าเป็นอย่างไร

กินเสร็จเรียบร้อยเจ้าบ้านยกสำรับอาหารเข้าไปกินในครัวเราถึงรู้ และเสียใจว่าเราทำให้เจ้าบ้านรับประทานอาหารช้าอย่างเกรงใจผู้มาเยือน หลังจากทุกอย่างเสร็จสิ้นพวกชาวกรุงอย่างเราก็เหมือนเดิม มีเบียร์ติดไปด้วยบรรจงกรอกใส่ลำคออย่างเมามาย เพื่อนผมเรียกผมไปคุยด้วยตามถนนของหมู่บ้านที่ทอดยาวออกไปในความมืด จนถึงลำน้ำเขื่อนที่ถูกตัดขาด ทำให้หมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านตาบอดไม่มีทางผ่านผู้มาแวะเยือนโดยส่วน ใหญ่จึงเป็นคนในหมู่บ้านเท่านั้น บรรยากาศจึงร่มรื่นไม่อึกทึกไปด้วยเสียรถยนต์ หรือรถเครื่อง (มอเตอร์ไซค์) หลังจากพูดคุยกันเสร็จก็กลับมาถึงที่พัก และเข้านอนไม่ดึกมากนัก

ตีห้าถูกปลุกจากเสียงรอบข้าง เพราะเพื่อนผมเตรียมเดินขึ้นเขาไปไหว้พระธาตุ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้านนี้ เราเดินไม่ไกลนักประมาณ 1 กิโลเมตรนำทางด้วยไฟฉายที่ผมเตรียมไว้ 2 กระบอก ขึ้นไปถึงเจดีย์บรรยากาศรอบข้างไม่ถึงกับมืด เพราะชาวบ้านได้เดินสายไฟเพื่อติดตั้งหลอดไฟไว้ยอดเจดีย์ มีสวิตช์ไฟไม่ห่างจากเจดีย์มากนัก เราได้เห็นเจดีย์รูปแบบของชาวมอญ ผมเองก็บรรยายไม่ถูก แต่เป็นรูปเจดีย์ทรงเตี้ย ถ้าหากใครเคยไปเกาะเกร็ด นนทบุรี ก็คงจะเคยเห็น เพื่อนรวมทั้งผมก็จุดธูปไหว้พระธาตุ ส่วนเพื่อนพิธีกรรมมากหน่อยทั้งไหว้ทั้งสวด และก็จุดเทียนรอบเจดีย์ เห็นบอกว่าเพื่อให้วันปีใหม่เป็นวันที่สดใส เพื่อนผมสวดอยู่นานด้วยการเดินรอบเจดีย์หลายรอบ ส่วนผมก็ดื่มด่ำกับบรรยากาศยามเช้า แบบคนกรุงที่ไม่ค่อยได้เห็น การเข้าพื้นเจดีย์ต้องถอดรองเท้าข้างนอกเขาถือมาก

ผมเก็บภาพลงวีดีโอเทปอย่างสนุกถึงแม้จะไม่มีมุมภาพให้ถ่ายมากนัก แต่ก็พยายามเก็บบรรยากาศให้มากที่สุด โดยเฉพาะวัดที่อยู่ตีนเขา โบสท์เป็นสีน้ำตาลทำด้วยไม้แปลกตาไม่เหมือนโบสถ์ในเมืองที่แข่งกันเป็นสีทอง และสีแดงตามนิยม พระพุทธรูปองค์ใหญ่สีขาวที่ชาวบ้านช่วยกันสร้างตั้งอยู่กลางแจ้ง มองบรรยากาศอย่างรื่นรมย์จนกระทั่งพระอาทิตย์ขึ้น

มาถึงอาหารเช้าพวกเราได้กินข้าวแช่ชาวมอญเห็นเพื่อนบอกว่าของแท้ดั้งเดิม ไม่เหมือนที่ผมเคยกินในกรุง เพราะเป็นแบบชาวบ้านจริง ๆ ข้าวแช่แทบจะไม่มีพิธีพิธีรีตองแค่คดข้าวใส่หม้อแขกเติมน้ำลงไปก็เสร็จเรียบร้อย

ส่วนเครื่องข้าวแช่มีอย่างเดียว เห็นบอกว่าเขากินกันอย่างนี้มานานแล้ว ไม่มีกระปิทอดหรือกับข้าวหวานที่กินกับข้าวแช่ เครื่องที่กินกับข้าวแช่เป็นปลาแกะเนื้อ นำไปผัดกับหอมใหญ่ใส่เครื่องอะไรบ้างไม่ทราบไม่ถึงกับอร่อยลิ้น เพราะโดยปกติไปกินข้าวแช่สูตรชาววังก็งั้น ๆ ไม่ถูกรสนิยมเท่าไหร่นัก ผมเองกินไป 2 ชามแบบแปลกลิ้น ฮา

ชาวบ้านที่นี่ใช้แบกของแบบเทินหัวทุกคน มีผ้า 1 ผืนเอามาม้วนเป็นก้อนกลม (คล้ายโรตีที่ผ่านการตีเป็นแผ่น และม้วนเป็นก้อนกลมก่อนจะคลึงให้แบนแล้วเอาไปทอดในกระทะ) ลักษณะผ้าแบบนั้นวางไว้บนหัว แล้วเอากระมัง กระจาด มาวางบนหัวผมเองไม่กล้าถ่ายภาพวีดีโอเก็บเอาไว้ เพราะมันไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยว ที่เห็นมันเป็นวิถีชีวิตของคนที่นี่เพียงแต่ผมแปลกตา ผมไม่กล้าไปรบกวนวิถีชีวิตชาวบ้านว่าเป็นเรื่องตลก หรือแปลกหรอกครับ

หลังจากนั้นเพื่อนผมก็ชวนพวกเราไปเที่ยวแบบวันสงกรานต์ เริ่มต้นจะพาไปเขาปิล๊อก แต่ก็ไม่ได้ไปก็เลยเบนเข็มไปอำเภอสังขะ โดยเตรียมถังน้ำใบเขื่อนไว้ท้ายรถกระบะไว้เล่นระหว่างทาง จนกระทั่งถึงอำเภอสังขะ ระหว่างทางผมเป็นคนขับรถบ้าง สลับกับเพื่อนโดยมีเพื่อนอีกกลุ่มเต็มท้ายกระบะได้เล่นสงกรานต์ อย่างสนุกสนาน

ระหว่างขับรถก็ได้เพื่อนเป็นไกด์บรรยายไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะทางวัด และพระ เพื่อนคนนี้จะรู้เยอะเป็นพิเศษ ผมถามถึงอดีตพระยันตะที่ฉาวโฉ่ชาวบ้านคิดยังไง เพื่อนผมบอกว่าคนในจังหวัดเขารู้กันมานานแล้วว่าเป็นคนไม่ดี มีแต่คนนอกพื้นที่เท่านั้นที่เลื่อมใสศรัทธา เพื่อนผมเล่าว่าสมัยก่อนเคยตั้งคำถามกับพระอาจารย์ตอนที่บวช ว่าพระรูปนี้ดูน่าเลื่อมใสและศรัทธามาก เพราะเห็นชาวบ้านมากันเยอะ พระอาจารย์บอกว่าอย่าดูกันที่เปลือกนอก ถ้าหากอยากจะสัมผัสตัวตนจริง ๆ อยู่ใกล้ไม่นานก็จะรู้ว่าพระรูปนี้เป็นอย่างไร พระอาจารย์รูปนี้ผมไม่บอกว่าเป็นใครแต่เป็นระดับเกจิ ที่ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่

พวกเราขับรถไปถึงวัดถ้ำแห่งหนึ่งตามทางผมเลยเข้าไปถามหลวงพ่อว่า ที่นี่ีมีเด็กยากจนมาขอให้หลวงพ่อช่วยบ้างไหม หลวงพ่อบอกว่ามีเยอะทั้งมอญ ทั้งกระเหรี่ยง แต่ไม่มีเงินให้นะถ้าหากจะกินข้าวก็มากินได้หลวงพ่อให้ ผมเห็นว่าน่าจะตรงเจตนาของคนที่อยากบริจาค ก็เลยขนของออกมาแบ่งครึ่งเป็นพวกเครื่องเขียน สมุดดินสอถวายหลวงพ่อเผื่อจะมีเด็กแถวนั้นอยากได้เอาไว้เรียนหนังสือ จะได้ไม่ต้องซื้อหา

เสร็จภาระกิจบุญเราก็ขับรถไปต่อจนถึงวัดหลวงพ่ออุตตมะ ทราบข่าวว่าท่านอาพาธอยู่โรงพยาบาล เพื่อนเล่าให้ฟังว่าวัดดูเก่าตั้งแต่หลวงพ่ออาพาธ ผมเองก็ไม่ทราบเพราะเพิ่งมาครั้งแรกหลังจากไหว้พระเสร็จผมบอกว่าของบริจาคยังเหลือ เพื่อนบอกไม่ต้องห่วงเดี๋ยวพาไปบริจาคให้คนมอญ ผมเองก็ไม่ได้มองเส้นทาง แต่รู้ว่าวิ่งตามถนนใหญ่เผลอแว๊บเดียวเลี้ยวเข้าดงต้นยาง ผมว่าวิ่งไม่ไกลนะครับก็มาเห็นหมู่บ้าน เห็นบอกว่าเป็นหมู่บ้านคนมอญ เห็นวัดแต่อ่านไม่ออกเพราะเป็นภาษามอญ ก็เอาของที่เหลือทั้งหมดไปถวายวัดเพื่อให้หลวงพ่อท่านไว้แจกจ่ายชาวบ้านเท่าที่มี ผมบอกได้เลยไปเที่ยวครั้งนี้ผมไม่ได้เตรียมของไปบริจาคแบบเอาหน้าเอาตาย เพียงแต่ติดรถยนต์ไปเท่าที่จะแบกไปไหว เจอที่ไหนดูว่าใช่ก็จะแจก

ออกจากหมู่บ้านมอญเพื่อนผมจะให้ผมขับรถ แต่แฟนเพื่อนซึ่งเป็นผู้สอบบัญชีบอกให้ขับออกมาก่อน เพราะผมไม่รู้เส้นทางหลังจากออกมาจากป่ายางเพิ่งจะรู้ว่า ผมข้ามพรมแดนประเทศไทยไปรัฐมอญโดยไม่รู้ตัว ด้วยความที่ผมไม่ค่อยใส่ใจในแผนที่ ก็เลยไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วในแผนที่มีรัฐมอญอยู่หรือไม่เพื่อนบอกว่ารัฐมอญจะมีพรมแดนดินกับไทย อีกด้านติดกับพม่า ผมเห็นปลายรัฐมอญผมคิดว่าน่าจะเป็นเมืองลับแลมากกว่าครับ

เขียนมาถึงตรงนี้อยากให้ผู้อ่านลองมาเที่ยวแบบผมบ้าง ที่บ้านไร่บรรยากาศไม่ได้สวยงามแบบในโปสเตอร์ แต่รับรองว่าดิบพอใช้ สะใจคนเที่ยวแบบธรรมชาติ ผมอยากให้ที่นี่มีเที่ยวแบบโฮมสเตย์ จัดกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวเล็ก ๆ ผมว่าใช้ได้ไม่เบา ป่าเขากับชาวชอญ

บันทึกไว้ 5 พฤษภาคม 2549

สาม สอเสือ