โคตรชอบเอ็งเลย
ผมตั้งใจว่าจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับโฆษณาไทยประกันชีวิต ตั้งแต่เห็นวันแรกจำไม่ได้ว่าวันไหนแต่ก็น่าจะประมาณ 4-5 วัน จนแล้วจนรอดก็ไม่มีเวลาเขียนถึงซักที ที่เขียนถึงไม่ใช่ว่าจะโฆษณาให้กับบริษัทที่ผมไม่ได้เกี่ยวข้อง แต่ผมชอบครับ เกี่ยวกับเรื่องพ่อ แม่ ที่มีลูกสาวที่น่ารักคนหนึ่ง
สุดท้ายลูกสาวท้องก่อนแต่ง จำความรู้สึกแรกได้เลยว่า ผมชมโฆษณาด้วยความอิ่มเอมในช่วงแรก เรื่องราวดำเนินได้ถึงตั้งแต่พ่อได้สัญญาว่าจะรักลูก และภาพก็ตัดไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่ ลูกสาวคลอดเป็นวัยทารก ลูกสาวเติบโตอย่างน่ารักตามประสาเด็กผู้หญิง
ก่อนภาพสุดท้ายแววตาพ่อที่เม็คอัพได้แต่งเติม จนรู้ว่าพ่อซึ่งผ่านการเวลาทำให้เกิดความร่วงโรยตามวัย แต่ก็หันไปมองลูกสาวที่เดินเข้าโรงเรียนด้วยความเป็นห่วง ก่อนลูกสาวจะหันมายิ้มให้พ่อ หลังจากนั้นภาพตัดกลับมาที่ตุ๊กตาคริสตัน ที่ห้อยอยู่ที่กระจกฉากหลังเป็นภาพน้ำฝนที่เกาะบนกระจกภาพนั้นผมยังไม่รู้สึกอะไร
แต่แล้วมีเสียงแม่พูดกับพ่อ ผมฟังไม่รู้เรื่องบางคำ แต่จับความได้ว่า “พ่อลูกท้อง” แต่ภาพก็ฉายให้เห็นความรักของแม่ที่พร้อมจะให้อภัยลูกเสมอ ด้วยการลูบหลังระหว่างที่ลูกสาวกำลังอาเจียน อยู่บนโถส้วม ภาพตัดกลับมาอีกครั้งลูกสาวที่น่าตาน่ารัก ยกมือพนมไหว้พ่อ และพูดด้วยเสียงสั่นเครือ “พ่อ หนูขอโทษ”
น้ำตาลูกผู้ชายของความเป็นพ่อปริ่มไปที่ดวงตา ก่อนจะตบหน้าลูกไปอย่างแรง ภาพลูกสาวพนมมือไหว้พ่ออีกครั้ง “พ่อ หนูขอโทษ” พ่อผวาเข้ากอดลูกกระชับแน่น และเสียงเพลงประกอบก็ดังขึ้น ก่อนจะมีเสียงพ่อพูดว่า “พ่อรักลูก และพ่อก็รักลูกของลูกด้วย” เท่านั้นแหละผมต่อมน้ำตาแตก เสียงสุดท้ายของพ่อบอกว่า “ผมไม่เคยลืมสัญญาที่เคยให้ไว้” ผมเองเป็นคนที่ต่อมน้ำตาลึกมาก ๆ แต่โฆษณาชิ้นนั้นมันโดนจริง ๆ หรือเป็นเพราะที่ผ่านมาชีวิตการทำงานของผมค่อนข้างโลดโผนกว่า 10 ปี
แถมช่วงต้นปีที่ผ่านมาสำนักงานบัญชีของผม ได้ต้อนรับสมาชิกตัวน้อยพร้อมกัน 3 คน ในช่วงเวลาไม่ถึง 3 เดือนผมเห็นหัวอกของความเป็นพ่อเป็นแม่อย่างชัดเจนเหลือเกิน ทั้งภาพและเสียงของโฆษณาชิ้นนั้นยังติดตรึงใจผมอยู่ ผมไม่รู้ว่าใครจะรู้สึกเหมือนผมหรือไม่ แต่ผมมีโอกาสได้ชมโฆษณาชิ้นนั้นอีก 4-5 ครั้งอาการก็ยังคงเหมือนเดิม อาจจะลดทอนความรู้สึกไปบ้าง แต่ก็ยังไม่หมดไป
ผมบอกโดยส่วนตัวว่าโฆษณาชิ้นนี้ผมชอบมากชิ้นหนึ่งในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งครีเอทีฟ ก๊อปปี้ไรเตอร์ กราฟฟิค ลำดับภาพ มันน่าจะสะท้อนสังคมของลูกให้มองกลับไปหาพ่อแม่ได้บ้าง ในสภาวะสังคมที่เคว้งคว้างไร้สิ่งยึดเหนี่ยว อย่างน้อยพ่อแม่และครอบครัวก็ยังเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวสิ่งสุดท้าย ที่ยังเกาะเกี่ยวกันอย่างเหนียวแน่นในสังคมไทย
โคตรชอบเอ็งเลย
บันทึกไว้วันที่ 12 ตุลาคม 2549
สาม สอเสือ