ธุรกิจปรับตัวยังไง

ต้องปรับตัว เราจะได้ยินคำนี้บ่อย โดยเฉพาะยุคไม่เกิน 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าธุรกิจ หรือการดำรงชีวิต ทุกคนรู้ว่าต้องปรับตัว ถ้าตามสถานการณ์ตลอด แต่ไม่รู้ต้องปรับตัวยังไง เป็นคำถามและคำตอบก้องในหัวตลอดเวลา

เรื่องการปรับตัวมันเป็นทุกอาชีพ ไม่มีอะไรหยุดอยู่นิ่ง แม้แต่อาชีพที่ผมทำอยู่ คือ บัญชี ยังไงก็ต้องปรับตัวเช่นกัน แต่จะปรับตัวอย่างไร กฎหมายแข็งทื่อมั้ย ก็คงไม่เพราะกฎหมายก็ปรับตัวตลอดอยู่เหมือนกัน ไม่ว่าแพ่ง อาญา กฎหมายภาษี ประกาศคำสั่ง อื่นๆ เยอะแยะไปหมด

ด้วยความที่อ่านหนังสือเยอะ อาจจะเพราะเหงา หรือมีหนังสือเป็นเพื่อน เพราะไม่รู้จะคุยกับใครที่เข้าใจเราดีที่สุด จนเมื่อสิบกว่าปีก่อนเพื่อนบ้าน ที่ใกล้สำนักงานที่ผมตั้งอยู่ ได้รับการติดต่อจาก กทม. อยากหาคนไปบรรยายทางบัญชี น่าจะเรียกบัญชีชาวบ้านเสียมากกว่า ผมถามว่าจะให้ผมไปพูดเรื่องอะไร แบบไหน คนฟังกลุ่มไหน โจทย์เขาบอกกว้างๆ เอาวะพูดก็พูด

วันนัดผมเดินทางไปมีนบุรี เป็นสถานที่ราชการจำไม่ได้ว่าเรียกว่าอะไร ต้องไปบรรยายเรื่องบัญชี โดยไม่ได้ถามค่าตอบแทนในเรื่องบรรยาย ไม่ได้เตรียมเอกสารบรรยายปากเปล่า สนุกอย่างเดียวเอาข้อมูลจากการอ่านที่มันฝังอยู่ในหัวออกมาพูด

ในห้องประชุมเต็มไปด้วยชาวบ้านหลากอาชีพ น่าจะประมาณ 20-30 คนเห็นจะได้ ช่างแอร์ ขายหมูปิ้ง ช่างเย็บผ้า ร้านข้าวแกง หลากอาชีพมาก

ผมเริ่มที่บัญชีต้นทุนก่อน ไม่รู้สิผมว่าบัญชีต้นทุนสำคัญที่สุดในบัญชีทั้งหมด แต่ไม่ได้บรรยายในรูปแบบวิชาการเพราะมันยากเกิน คนเรียนบัญชีจะรู้ วิชาบัญชีต้นทุนเป็นวิชาที่ยากที่สุดเขาว่าอย่างนั้น

เรื่องบัญชีต้นทุนเคยพูดกับอดีตลูกค้ามานานแล้ว เรื่องการคำนวณต้นทุน บวกทุกอย่างเข้าไปในสินค้า หรือบริการที่เราทำ วิธีการพูดวันนั้น ให้เอาค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เราต้องจ่ายเป็นเดือน เป็นปี หารออกมาเป็นวัน หรือจะให้ละเอียดหน่อยสำหรับบางต้นทุนให้หารเป็นชั่วโมงเพราะมีแรงงาน ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าเช่า อยู่ในนั้นด้วย แล้วบวกกลับเข้าไปในต้นทุนสินค้า หรือบริการ ว่าใช้เวลาเท่าไหร่ในการทำสิ่งๆ นั้นจนเสร็จสิ้น เราจะรู้ว่าสินค้านั้น บริการนั้นมีต้นทุนเท่าไหร่ เวลาเสนอราคา เราจะบวกกำไรกี่เปอร์เซนต์ เป็นวิธีคิดของแต่ละธุรกิจผมบอกไม่ได้

ในเมื่อเรารู้ต้นทุนของสินค้า และบริการเราแล้ว พร้อมตกลงปลงใจว่าจะต้องมีกำไรกี่เปอร์เซนต์ เราก็บวกเพิ่มเข้าไป นั่นคือราคาที่เราเสนอขาย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบสินค้า หรือบริการ ราคาจะสมเหตุสมผล

กลุ่มคนที่มาฟังจะเป็นธุรกิจเล็กๆ เล็กกว่า SME ด้วยซ้ำระดับไมโคร SME ที่เราเห็นขายของ แผงลอยรถเข็น ถ้าจำไม่ผิดเป็นยุคที่ให้ชาวบ้านจดบัญชีครัวเรือน รายรับรายจ่าย ทั่วไปการบรรยายลงลึกพอสมควรแต่ไม่บอกในนี้เพราะยาว ใช้เวลาบรรยายกว่า 3 ชั่วโมง ผมได้ค่าตอบแทนจากราชการมา 1 พันบาท น้อยจังแต่เอาวะถือว่าช่วยชาวบ้าน

หลังจากนั้นได้รับการติดต่ออีก จากข้าราชการ กทม. อยากให้ช่วยบรรยายอีกรอบกลุ่มใหม่ ข้าราชการเขาบอกว่าบรรยายสนุกและได้ความรู้ อยากฟังอีก ตัดสินใจบรรยายก็บรรยาย พบผู้ฟังกลุ่มใหม่ ส่วนกลุ่มเก่ามีหรือไม่ จำไม่ได้ เพราะไม่ได้จำใครเลยมีหน้าที่บรรยายบัญชีต้นทุกชาวบ้านอย่างเดียว เอาสนุกเรื่องเงินเล็กมาก 1 พันบาทค่าบรรยาย

ย้อนกลับมาเรื่องปรับตัวย้อนไปในอดีตเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ได้ยินคำว่า นาโนเทคโนโลยี ตอนนั้นยังจินตนาการไม่ออก แต่พอรู้ว่าเทคโนโลยีนี้มันน่าจะเล็กมาก 1 เมตร แบ่งได้ 1 พันล้านส่วน เล็กมากแล้วเทคโนโลยีนี้ ถ้าไปอยู่ในเครื่องอิเล็คทรอนิค จะเล็กขนาดไหน ตอนนั้นจินตนาการได้ประมาณนี้ แล้วทุกอย่างก็เล็กลงจริงๆ ทำงานได้เยอะขึ้นก็จริงอีก โทรทัศน์ โทรศัพท์ เครื่องเสียง อื่นๆ ไม่รู้เพราะไม่ได้อยู่ในชีวิตประจำวัน ทุกอย่างใกล้ตัวเริ่มเห็นชัดมากขึ้น เพราะอยู่ในชีวิตประจำวัน โทรทัศน์จากเป็นหลอดภาพใหญ่เทอะทะ กลายเป็นหลอด แอลอีดี ประกอบกันเป็นภาพ ส่วนโทรศัพท์จากเครื่องใหญ่มากหดเล็ก ตอนนั้นจินตนาการว่าจะเล็กขนาดไหน มองไม่เห็นเลยมั้ย โดยลืมไปว่าโทรศัพท์ก็ยังต้องถือด้วยมือ จะเล็กเท่านิ้วก้อยก็คงไม่สะดวก ก็มีโรงงานผลิตโทรศัพท์มือถือมาขายเล็กเท่ายางลบ ออกแบบเหมือนโทรศัพท์ NOKIA 3310 แต่ความนิยมน้อยน่าจะเป็นเพราะความไม่สะดวกในการใช้งานระยะทางระหว่าง หู กับ ปาก

มาถึงยุค นาโนเทคโนโลยี ทำให้โทรศัพท์มือถือ กลายเป็นอุปกรณ์จำเป็นสำหรับชีวิตทำแทนได้หลายอย่าง บันทึกภาพถ่าย เสียง ทำเอกสารสำคัญ จนกล้อง DSLR และกล้อง วีดีโอ ใหญ่ๆ เริ่มหมดความนิยมไปเรื่อยๆ โทรศัพท์สมาร์ทโฟน เข้ามาแทนที่ได้เกือบทั้งหมด

มาเจอสถานการณ์โควิดระบาดอีก ทุกอย่างเปลี่ยนเร็วกว่าเดิม ทุกคนกลัวการพบหน้าผู้คน โรคระบาดทำให้คนต้องห่างกัน เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งภาพ ทั้งเสียง ทั้งการทำงานเปลี่ยนเร็วมาก การค้าบนออนไลน์บูมขึ้นทันทีแบบห้างใหญ่ๆ ไม่ทันตั้งตัว ตอนนั้นกิจการผมได้รับอานิสงส์จากเหตุการณ์ ดังกล่าวพอสมควร ธุรกิจออนไลน์บูม

การมาของเทคโนโลยีออนไลน์ ขายออนไลน์ ซึ่งทุกคนรู้ แต่ก็ใช่ว่าจะประเมินถูกทุกคน กิจการเสื้อผ้ารองเท้าระดับโลกไม่เอ่ยนาม วางตำแหน่งสินค้าใหม่ จะไม่วางขายในห้างทั่วโลก จะขายทางออนไลน์อย่างเดียว ผิดคาดเพราะขายไม่ออกหลังจากโควิดจบ คนกลับมาเลือกซื้อสินค้าตามห้างเหมือนเดิม ต้องเรียกว่าที่วางเอาไว้ขาดทุนยับ

แล้วโลกมาพบกับเทคโนโลยีใหม่อีกไม่นานมานี้ ควอตัมเทคโนโลยี เรื่องจะเป็นไงต่อไม่ต้องประเมิน สำหรับคนทั่วไปเพราะเราเป็นแค่ผู้บริโภค ถึงจะได้ใช้ก็เป็นผู้ใช้ปลายน้ำ

จงปรับตัวแล้วจะปรับตัวกันอย่างไร ในรอบขวบปี 2567 หรือในรอบ 3 ถึง 4 ปีที่ผ่านมาทั้งสงครามการค้า และสงครามสู้รบ ทำให้เศรษฐกิจกระทบเป็นวงกว้าง บางคนไม่ได้ตามข่าวก็คิดว่าห่างไกล เพราะจริงๆ แล้วไม่ว่าสินค้าแพงขึ้น หรือสินค้าถูกจากจีนเข้ามาแย่งตลาดทั่วโลก จากเทคโนโลยี และการขนส่งที่เร็วขึ้น คนไม่มีเงินใช้ หนี้สินพอกพูน สหรัฐจะกีดกันทางการค้า มันแทบจะเป็นเรื่องเดียวกันหมด ถ้าไม่มองแยกส่วน

ปี 2568 หรือ 2025 หลายคนเตือนว่า จะแย่กว่าปีที่เราจะกำลังหมดลง เรื่องเหล่านี้นักวิชาการดังๆ หลายท่านเตือนมานานแล้ว ผมไม่บอกว่าเป็นเรื่องของโลก เอาแค่เรื่องของไทย วิกฤติต้มกบ คนไทยเหมือนกบอยู่ในหม้อ นึกว่าน้ำเย็นเล่นกันสนุก จนวันนี้น้ำในหม้อเริ่มร้อนและกำลังจะเดือด จะโดดออกจากหม้อ หรือโดดออกจากสถานการณ์ ก็โดดไม่ทัน คนที่ยังอยู่ได้ก็ประคองกันไป คนที่อยู่ไม่ไหวก็เดือดร้อน ร้องกันระงมหนี้สินท่วม เห็นว่าจะเริ่มเกิด ธุรกิจซอมบี้ คือค้าขายได้ แต่กำไรไม่เหลือเพราะแข่งขันตัดราคาเป็นหลัก

อีกทั้งการเมืองไทย ความขัดแย้งทางการเมือง กว่า 20 ปี ทหารยึดอำนาจไม่ใช่คำตอบ แต่บางคนก็ยังเชียร์ถึงตอนนี้บางท่านจะรู้แล้วว่าไม่ใช่แต่ก็กลับตัวไม่ทัน เศรษฐกิจไหลลงไปเรื่อยๆ สังคมสูงอายุ การศึกษาล้าหลัง สังคมล้าสมัย ประเทศไทย จากประเทศกำลังพัฒนาจนประเทศอื่นเริ่มแซง เรายังเป็นประเทศกำลังพัฒนา หรือด้อยพัฒนาไปแล้ว ทหาร เขาไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจ การยึดอำนาจ 2 รอบ ในรอบใกล้ๆ ปี 2549 และปี 2557 น่าจะเป็นคำตอบได้หมดแล้ว

ประเด็นที่ถกเถียงแต่ไม่กล้าแสดงออกใครอยู่เบื้องหลังการยึดอำนาจ และการพูดถึงใบอนุญาต 2 ใบจากนักวิชาการดัง ใบแรกจากการเลือกตั้ง ใบที่สองอำนาจจากหลังม่าน

คำบอกกล่าวต้องปรับตัว ปรับยังไง อ่านเยอะแล้วก็ระวัง ไม่รู้ว่าเดินถูกทางมั้ย แต่ก็พยายามประเมินอนาคตว่าน่าจะไปทางนี้ ถูกผิดว่ากันอีกเรื่องของอนาคต

ลาก่อนปีมังกรไฟ 2567

บันทึกไว้ 25 ธันวาคม 2567

สาม สอเสือ