บทความนี้ไม่ได้เขียนเพื่อโจมตีผู้ใด หรือหน่วยงานใด เพียงแต่อยากให้รับรู้ปัญหาของนิติบุคคลเล็กๆ กับปัญหาการเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม

ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐพยายามส่งสัญญาณเสมอ อยากให้ทุกคนเข้าระบบภาษี โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นการเพิ่มมูลค่าภาษีให้กับรัฐ เพื่อเป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศ

ถึงกับจะมึการแก้ไขระเบียบการจดทะเบียนบริษัท ให้สามารถจดเพียงคนเดียวได้ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จเป็นรูปเป็นร่างในปี 2561 ปัจจุบันใช้ 2 คน ณ ปี 2566

พูดถึงสภาพการค้าปัจจุบัน มีผู้ประกอบการหน้าใหม่เข้ามาในตลาดเยอะ และเร็วมาก เนื่องจากมีการไล่บี้ภาษีกันอย่างหนัก โดยเฉพาะพวกค้าออนไลน์ ร้านขายทอง ร้านขายยา สถานเสริมความงามโดยเฉพาะที่ใช้แพทย์ รัฐมองกิจการประเภทนี้มีรายได้เยอะ แต่ไม่ได้เข้าระบบภาษี โดยส่วนใหญ่รัฐจะส่งสัญญาณให้เข้าระบบ โดยการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ถ้ารายได้ถึงเกณฑ์ 1.8 ล้านต่อปีให้จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบภาษีมูลค่าเพิ่ม หลีกเลี่ยงความเสียหายจากการตรวจสอบภาษีจากสรรพากร

แค่โปรยหัวเรื่อง รัฐต้องการอะไร แล้วให้ไปทำอะไรในการเข้าระบบ

การจดทะเบียนบริษัทก็ไม่ได้ยุ่งยาก เราสามารถไปเช่าบ้าน อาคารพาณิชย์ สำนักงานให้เช่า หรือ จะเป็นเจ้าของเอง คอนโดมีเนียม ปัจจุบันไม่ให้จด เพราะสรรพากรตรวจสอบไม่ได้ (2566) บ้านเดี่ยว อาคารพาณิชย์ ทาวน์เฮ้าท์ ก็สามารถจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 65-69

ประเด็นปัญหาไม่ได้อยู่ที่การจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่ปัญหามันอยู่ที่การจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 57,74,166)

โดยเฉพาะต้องมีหนังสือยินยอมเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสถานที่เซ็นยินยอม อย่างเช่นฉบับที่ 57 (5) (ข) หรือ ประกาศฉบับที่ 74 (5) (ค) ผมอาจจะไม่แม่นประมวลรัษฎากรเท่าไหร่นัก แต่เท่าที่รู้กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมาณนี้

“กรณีเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ให้แนบภาพถ่ายสัญญาเช่า โดยสัญญาเช่าดังกล่าวต้องระบุชื่อ ที่อยู่ ของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ด้วย และถ้าเป็นกรณีเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ให้ใช้อสังหาริมทรัพย์นั้นโดยไม่มีค่าตอบแทน ให้แนบภาพถ่ายหนังสือยินยอมให้ใช้เป็นที่ตั้งสถานประกอบการ และสำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้านอันเป็นที่ตั้งสถานประกอบการ”

ในเอกสารของสรรพากรที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ เอกสารที่ใช้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

1. ให้แนบเอกสารสำเนาเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่า/ผู้ยินยอม เช่น การเป็นเจ้าบ้าน สัญญาขายที่ดิน คำขอเลขที่บ้าน ใบโอนกรรมสิทธิ์ สัญญาเช่าช่วง

2. ให้แนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านสถานประกอบการของผู้ให้เช่า หรือผู้ยินยอม หนังสือรับรองนิติบุคคล (กรณีนิติบุคคลเป็นผู้ให้เช่า)

3. ให้แนบแผนที่แสดงที่ตั้งของสถานประกอบการโดยสังเขป พร้อมภาพถ่ายสถานประกอบการที่แสดงให้เห็นบ้านเลขที่

แต่ในประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับ 57 , 74 , 166 ให้ติดป้ายแสดงชื่อผู้ประกอบการไว้ในที่เปิดเผยซึ่งเห็นได้ง่าย ณ สถานประกอบการ

ปัญหาที่เจอ

1.เจ้าของบ้านเช่าไม่ยินยอม เซ็นยินยอมให้ใช้สถานประกอบการ นัยว่ากลัวภาษีแต่บริษัทได้จดทะเบียนขึ้นมาแล้วตามสถานที่ดังกล่าว

2.ทะเบียนบ้านมีเจ้าบ้าน เซ็นยินยอมแล้ว แต่เจ้าหน้าที่สรรพากร จะขอหนังสือสัญญาขายที่ดิน หรือโฉนด ปี 2566 (ปัจจุบันสรรพากรไม่เอาสำเนาโฉนด) บ้านหลังดังกล่าวเจ้าของบ้านไม่ยินยอมให้

3.บ้านมีเจ้าบ้าน มีสัญญาขายที่ดิน แต่ผู้มีชื่อเสียชีวิตไปแล้ว แต่มีคำสั่งศาลให้มีผู้จัดการมรดก (อันนี้ไม่มีปัญหา)

ประเด็นที่ผมอยากถามก็คือ ปัจจุบัน มีการค้าของเอสเอ็มอี หลายแห่งตั้งสถานที่ทำการค้าไม่ตรงกับที่จดทะเบียน เพราะด้วยเหตุเหล่านี้ค่อนข้างเยอะ การบังคับใช้ของเจ้าหน้าที่สรรพากร ทำให้เขาไม่สามารถจดจัดตั้งให้ตรงที่ทำการค้าได้ เช่น บ้านอยู่ต่างจังหวัด มาเช่าบ้านในกรุงเทพฯ เปิดบริษัท แต่เจ้าของบ้านไม่ยินยอมเซ็นให้ใช้สถานประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะเขาต้องแนบเอกสาร สำเนาสัญญาขายที่ดิน ที่ออกโดยกรมที่ดิน หรือสำเนาโฉนดที่ดิน ซึ่งมักจะไม่ปรากฎเลขที่บ้าน อีกทั้งไม่พร้อมจะให้สำเนาบัตรประชาชนต่อผู้เช่า เพื่อไปยื่นต่อราชการ โดยเขาไม่รู้ว่าเอกสารจะถูกเอาไปทำอะไรบ้าง

ในยุคที่คนไม่ไว้ใจกันและไม่มีความรู้เรื่องเอกสาร จึงมักจะรู้สึกไม่ปลอดภัยในการมอบเอกสารดังกล่าวให้กับผู้อื่น จึงเกิดปัญหาบ่อยครั้ง ที่เอสเอ็มอี ไม่สามารถจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ตามที่รัฐอยากให้เข้าระบบ

ยุคนี้เป็นยุคความรวดเร็วทางอินเตอร์เน็ต การประมวลผลคอมพิวเตอร์ การจดทะเบียนนิติบุคคล ก็จะมีหมายเลขนิติบุคคลของตนเอง ผู้มีอำนาจลงนามก็มีหมายเลขบัตรประชาชน ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ทันทีถ้าหากมีการหลบเลี่ยงภาษี หรืออะไรก็แล้วแต่

ทำไมการจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงยังต้องยึดหลักเกณฑ์แข็งๆ เอกสารแข็งๆ อีกเล่า

ในยุคไอทีเช่นนี้ ผมว่าถ้าปล่อยให้จดทะเบียนง่ายๆ แต่เจ้าหน้าที่ทำงานให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็วมากกว่านี้ ยิ่งจะทำให้เกิดสถานประกอบการอีกมากมาย

เรามักจะกลัวเช่น เปิดสถานประกอบการออกใบกำกับภาษีปลอม ไม่มีตัวจริง โดยเราไปยึดกับตัวบ้าน มากกว่ายึดกับตัวนิติบุคคล และผู้มีอำนาจลงนามในนิติบุคคล ซึ่งทั้งหมดมีหมายเลขที่สามารถตรวจสอบได้ทันทีผ่านคอมพิวเตอร์ ถ้าหน่วยงานราชการมีประสิทธิภาพดีพอ

เรายึดเอกสารแบบแข็งๆ โดยไม่ปรับให้ทันโลกการค้า

สิ่งที่เจอล่าสุดทำให้ผลอึ้ง เจ้าบ้านเซ็นยินยอมแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ขอหนังสือสัญญาขายที่ดินอีก ในอดีตไม่เคยมี ก่อนปี 2560

การตีความของเจ้าหน้าสรรพากรที่แข็งๆ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเป็นนิติบุคคล จดภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อเข้าค้าขายจ่ายภาษีให้รัฐ

ผมอยากถามคำเดียว มันยกเลิกได้มั้ยกฎแข็งๆ แบบนี้ แนบกระดาษแบบนี้

แล้วคิดส่งเสริมให้เอสเอ็มอีเปิดนิติบุคคล จดภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้สะดวกค้าขายสะดวก แล้วภาษีท่านก็จะตามมา

เบื่อครับ บอกตรง บันทึกไว้ 15 ธันวาคม 2560

สาม สอเสือ