เรื่องเล่าจากอดีต
จากตลาดบางบัว มาตลาดยิ่งเจริญ
เรื่องราวการแต่งงาน อาแหมะ กับ อาแปะ อันนี้ต้องบอกว่าเป็นการเล่าจากปากตัวเอง คือ อาแหมะ เพราะอาแปะ ผมเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2513 ด้วยโรคมะเร็ง ผมยังเล็กมากแต่ก็ทันเห็นความขยันทำมาหากินของครอบครัว โดยเฉพาะอาแปะ ทำงานหนักมากตื่นเช้านอนดึก พักผ่อนน้อย ภาพความทรงจำจะใช้เท้าขวาชันเข่าบนแผงวางของ และเท้าซ้ายยืนอยู่บนพื้น ดีดลูกคิดเวลาค่ำคืนยอดขายได้เท่าไหร่ แต่เรื่องการแต่งงานทุกอย่างเป็นการเล่าผ่านพี่สาว เจ๊หมวย
น่าจะได้ชื่อจีนคนเดียว ชื่อ ซกเจง แปลว่าระฆังสวย แม่จะเล่าเหตุการณ์ให้ลูกสาวคนเดียวของบ้าน ซึ่งถือว่าสนิทสุด ผมไม่รู้ว่าตามประเพณีคนจีนหรือไม่ที่จะเล่าทุกอย่างให้ลูกสาวฟัง เพราะถือว่าใกล้ชิดสุด นอกนั้นพวกลูกชาย ผมคะเนว่าไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ภาษาดูจากตัวเอง รู้เรื่องบ้านน้อยมาก ไม่รู้ว่าแม่เล่าให้ฟังมั้ย หรือเล่าแล้วผมจำไม่ได้อันนี้ไม่รู้ รู้แต่ตัวเองว่าโคตรดื้อไม่ต้องเล่ารู้เอง
อาแปะ อาแหมะ เกิดและเติบโตทันพอจะรู้เรื่องสงครามโลก ครั้งที่ 2 ย้อนหลังไปปี พ.ศ.2488 พ่อผมอายุประมาณ 18 ปี ส่วนอายุแม่ 14 ปี เข้าใจความเป็นไปของสงครามพอสมควร เพราะระเบิดจากฝ่ายสัมพันธมิตร ก็มาทิ้งในกรุงเทพ แล้วคนจีนในยุคนั้นเป็นยุคทำมาหากินสร้างครอบครัว ถูกปลูกฝังเรื่องความขยันกันอยู่แล้วตั้งแต่เด็ก ผลกระทบจากสงครามการทิ้งระเบิดตามจุดต่างๆ ใครอยากรู้ประวัติศาสตร์ช่วงนี้ สงครามโลก ครั้งที่ 2 คงต้องไปค้นสื่อในออนไลน์ มีทั้งเรื่อง มีทั้งภาพให้ดูไม่ใช่น้อย
ในปี พ.ศ.2488 ฝ่ายสัมพันธมิตร ที่นำโดยสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิด เข้าในประเทศไทยเพราะไทยถูกบังคับให้เข้าร่วมสงครามกับญี่ปุ่น จุดสำคัญเวลาเกิดสงครามเพื่อไม่ให้ศัตรูแบบไทย ตั้งรับได้ก็ต้องทิ้งระเบิด โรงไฟฟ้า โรงประปา และสนามบิน ชาวบ้านเดือดร้อนเพราะจะขาดไฟฟ้าใช้ไปด้วย วิ่งลงหลุมหลบภัยตามสัญญาณเสียง หวอ เหมือนในภาพยนตร์สงคราม แจ้งเตือนประชาชนในระแวกใกล้เคียง ที่จะมีการทิ้งระเบิดจากเครื่องบิน ยิ่งตลาดดอนเมืองเป็นจุดเสี่ยงมาก เพราะอยู่ใกล้สนามบิน จะได้รับผลกระทบชัดเจน เคยอ่านหนังสือของ คุณสมัคร สุนทรเวช จำชื่อหนังสือไม่ได้ แกก็วิ่งและหลบหมอบ เวลามีเสียงหวอบนถนนราชดำเนิน ในยุคนั้นเช่นเดียวกัน
วกมาเรื่องการแต่งงานของ 2 ครอบครัว ระหว่าง อาแปะ กับ อาแหมะ อาแปะเป็นชาวจีนโพ้นทะเล เข้ามาในเมืองไทย เข้าใจว่าน่าจะประมาณปี 2476 ซึ่งเกิดที่เมืองจีน เลยไม่ได้สัญชาติไทยตามแผ่นดินเกิด อาแปะเกิดปี 2470 ดูจากภาพที่ถ่ายในเมืองจีน ก่อนเข้าเมืองไทย และมาเจอหลักฐานทางราชการ ใบมรณะบัตรของอาแปะ เปรียบเทียบ ส่วนอาแหมะมาเกิดในเมืองไทย ปี 2474 ได้สัญชาติไทยตามแผ่นดินเกิดตามกฎหมาย ดูในสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเก่า เอาเป็นว่าข้อมูลครบ ปีเข้าไทย อายุเกิด ของแต่ละคน เป็นครอบครัวเริ่มต้น นายซ่งโจย แซ่เฮี้ยะ และ นางเก๊กบ๊วย แซ่ตั้ง ผมเดาว่าน่าจะเริ่มใช้ชีวิตคู่ประมาณปี 2492 ปีที่เกิดสุริยุปราคา บางส่วนในประเทศไทย และในแผ่นดินจีนซึ่งเกิดสงครามกลางเมืองมาก่อนหน้านี้ แต่มาสิ้นสุดในปี 2492 กองทัพแดง ของเหมา เจ๋อ ตุง มีชัยชนะเหนือพรรคก๊ก มิน ตั๋ง เริ่มต้นการก่อตั้งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน อย่างเป็นทางการ
มีการเล่าว่ามีแม่สื่อมาติดต่ออาแหมะสมัยสาวๆ เพราะอาแปะต้องการคู่ชีวิตคนไทยเชื้อสายจีน เพื่อจะซื้อบ้านหลังจากแต่งงานใช้ชีวิตครอบครัวโดยสมบูรณ์ แต่ไม่สามารถซื้อได้เพราะเป็นคนต่างด้าว ต้องได้ภรรยาที่มีสัญชาติไทย ก็เลยมีการตกลงปลงใจกัน ผมไม่รู้คนยุคนั้นต้องจีบกันมั้ย หรือผ่านแม่สื่อเห็นว่า นิสัยใช้ได้ เอาการเอางานก็ตกลงปลงใจแต่งงานกันแค่นั้น ไม่ได้รับการบอกเล่าบทเข้าพระเข้านาง ฮา
หลังจากแต่งงานแล้ว อาแหมะ ย้ายออกจากบ้านที่ดอนเมือง ยุคนั้นเรียกฝั่งโขง ย้ายมาอยู่ตลาดบางบัวตามครอบครัวของ อาแปะ ซึ่งมีร้านขายของอยู่ในตลาดบางบัวเป็นบ้านเช่าหลังบ้านติดคลองบางบัว ซึ่งมี ตาโอ้ย เช่าบ้านอยู่ตรงข้าม ขายของ ตาโอ้ย คือคนที่คนไทยรู้จักดี เพราะเป็นเจ้าของธุรกิจสวนน้ำสวนสนุก สวนสยามที่โด่งดังในปัจจุบัน และเป็นเจ้าของหมู่บ้านอมรพันธุ์ ที่มีหลายโครงการ แต่ได้เสียชีวิตไปแล้ว เรื่องนี้พักไว้บันทึกไว้พอเข้าใจความเป็นมา
มีการย้ายบ้านกันอีกรอบมาอยู่ตลาดยิ่งเจริญ น่าจะช่วงปี 2500 ตามการบอกเล่า ตามประวัติตลาดยิ่งเจริญเปิดวันที่ 11 สิงหาคม 2498 โดยใช้ฤกษ์โสเภณี ตามหลวงปู่บุ่ง วัดใหม่ทองเสน ในอดีตเป็นตลาดใหญ่การทำพิธีเปิด คงยังไม่ได้สร้างวัตถุถาวรมากเท่าไหร่นักเช่นอาคาร บ้านพัก ร้านค้า เพราะบ้านที่ครอบครัวผมเข้าอยู่ เป็นบ้านไม้ 2 ชั้น 2 ห้อง บ้านเหมือนตึกแถวในปัจจุบัน เป็นแนวแถวติดถนนพหลโยธิน เพื่อทำการค้าขาย บ้านในอดีตเป็นบ้านสัญญาเซ้ง ผมไม่รู้ว่าสัญญานานแค่ไหน ผมเองก็มาเกิดที่นี่ ทันเห็นอะไรต่อมิอะไรเกี่ยวกับสะพานใหม่ และตลาดยิ่งเจริญ ในอดีตยังเป็นถนนลาดยาง 2 เลน บ้านขายของโชห่วย หรือที่เรียกขายของชำ ขายดีมาก ผมทันเห็นอากง อาม่า ซึ่งเป็นพ่อกับแม่ของ อาแปะ “พ่อผม” อยู่ร่วมกันในบ้านหลังนี้ น่าจะย้ายพร้อมกันจากตลาดบางบัว มาอยู่ตลาดสะพานใหม่
สถานที่ขายของชื่อ ร้านง้วนเฮงหลี ต้องเรียกว่าขายดีมากจนคนอิจฉา ร้านดังในตลาดยิ่งเจริญ ย่านสะพานใหม่ ตอนเล็กๆ ผมยังรู้ว่าร้านที่ขาย ขายดีและเป็นที่รู้จัก ทางฝั่งเหนือไปจนถึงคนแถวรังสิต ซึ่งในยุคนั้นยังไม่เจริญเป็นไร่นา ทำสวน ทำการเกษตร ส่วนทางฝั่งใต้ก็ขายกันถึงย่านเกษตรในปัจจุบัน ยุคนั้นตลาดสะพานใหม่เจริญที่สุด ทุกคนรู้จักร้านตาเจ๊กบางบัว ขายได้วันละเท่าไหร่ไม่บอกเดี๋ยวสรรพากรในอดีตข้ามเวลามาเก็บภาษีเพิ่ม ฮา อีกรอบ
ตอนอยู่ตลาดยิ่งเจริญ พี่น้องผมเกิดหมดแล้ว เฮียช้ง เจ๊หมวย เฮียใหญ่ เฮียเล็ก เฮียน้อย แล้วก็มาผม ชื่อ นิด ผมไม่รู้ว่าใครเกิดที่ไหนบ้าง ถ้าเดาจากปีเกิด ก็น่าจะมี 3 คนแรก แต่จากข้อมูลของเจ๊หมวย หน่วยซักผ้าอ้อมน้อง ยืนยันว่า เฮียเล็ก เกิดตลาดบางบัวแน่ เพราะตัวเองจะถูกแม่ใช้ ไปซักผ้าอ้อมในคลองบางบัวหลังบ้านให้เฮียเล็กที่เพิ่งเกิดไม่นาน ลืมเล่าอีกคน โกสุรีย์ เป็นลูกหลงของอาม่า หรือย่า มีศักดิ์เป็นน้องสาวพ่อ ก็เกิดในช่วงเวลาใกล้เคียง กับพี่ชายคนโตผมเกิด เห็นว่าต้องกินนมแม่ผมด้วย เพราะน้ำนมของ อาม่า ไม่มี
โกสุรีย์ ถือเป็นลูกหลงที่เกิดจากครรภ์มารดาอายุเยอะ น่าจะอยู่ในช่วงเกิดที่ตลาดบางบัวเช่นเดียวกัน เอาเป็นว่าเขียนรวมๆ กันไป โกสุรีย์ ในบรรดาพี่น้องไม่มีใครนับถือเป็นอา แต่นับถือเป็นพี่สาวอีกคนหนึ่งมากกว่า
เจ๊หมวย เล่าว่า ก่อน เฮียน้อย เกิดผมจะมีพี่สาวอีก 1 คนคะเนว่า เสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ปี 2501 น่าเสียดายไม่อย่างนั้นผมจะมีพี่สาว 3 คน เพราะมีแต่ผู้ชาย เรื่องบู๊ เตะต่อย จึงถึงใจมาก
ครอบครัวผมเริ่มต้นตั้งรกรากกันใหม่ที่สะพานใหม่ ตลาดยิ่งเจริญ น่าจะเป็นการเริ่มต้นธุรกิจจริงๆ จังๆ ที่ผมเห็น
บันทึกไว้ 1 พฤษภาคม 2567
สาม สอเสือ